Wednesday, July 05, 2006

The King and I : รายงานการเข้าเฝ้าของทูตอังกฤษ ปี 2500 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงการเมืองไทย





หมายเหตุ : ข้างล่างนี้ คือคำแปลของผมต่อรายงานฉบับเต็มที่นายเบิร์กเลย์ เกจ (Berkeley Cage) ทูตอังกฤษประจำประเทศไทยที่เพิ่งหมดหน้าที่ ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2500 (เขาส่งจากย่างกุ้งระหว่างการเดินทางกลับ) ในรายงานนี้ (ซึ่งเกจจงใจตั้งชื่อเลียนแบบละคอนเพลงและหนังชื่อดัง) เกจได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าถวายบังคมลาของเขา ซึ่งในระหว่างนั้นในหลวงทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเมืองไทยในขณะนั้นต่อเขาเป็นครั้งแรก ประเด็นสำคัญและน่าสนใจที่สุด ได้แก่ความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กรณีงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (หรือ "กึ่งพุทธกาล") ในเดือนพฤษภาคม 2500 รัฐบาลจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับงานดังกล่าวอย่างมาก (ในชีวิตการเป็นผู้นำทางการเมืองของเขา มีงานฉลอง 2 งานที่จอมพลให้ความสำคัญอย่างมาก คือ งานวันชาติในต้นทศวรรษ 2480 โดยเฉพาะปีแรก 2482 และงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้) ตามหมายกำหนดการ ในหลวงจะทรงเสด็จไปเปิดและปิดงาน (12 และ 18 พฤษภาคม) และจะทรงเสด็จทอดพระเนตรงานบางรายการ (รวมแล้วจะทรงเสด็จ 4 วัน ในงาน 7 วัน) แต่แล้วทรงไม่เสด็จอย่างกระทันหัน เหตุผลที่เป็นทางการจากราชสำนักคือทรงพระประชวร แต่ดังที่จะเห็นได้จากรายงานของเกจข้างล่าง เหตุผลที่แท้จริงคือ ทรงไม่พอพระทัยเกี่ยวกับการจัดงาน หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ของฝ่ายรัฐบาล ได้ตีพิมพ์ข่าวในลักษณะที่มองกันว่าเป็นการโจมตีพระองค์ ด้วยการพาดหัวประเภท "เจ้าผยองหนัก", "เจ้าล้างศาสนาอย่างนี้แล้วต่อไปเจ้าจะตายโหง", "เจ้าวางแผนคว่ำรัฐประหาร" (ผมเข้าใจว่าเนื้อหาของข่าวจริงๆไม่ได้ระบุถึงในหลวงโดยตรง หนังสือพิมพ์เหล่านี้ ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว แต่คำพาดหัวเหล่านี้ ถูกนักการเมืองฝ่ายค้านรัฐบาล เอามาอภิปรายโจมตีในสภา หาว่ารัฐบาลปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

ผมทราบการมีอยู่ของรายงานฉบับนี้ครั้งแรกจากเชิงอรรถเล็กๆในบทความเกี่ยวกับจอมพล ป. ของกอบเกื้อ สุวรรณทัต-เพียร หลังจากนั้นไม่กี่ปี ผมได้มีโอกาสพบ ดร.เจมส์ เอส โอ๊คคีย์ ผู้บรรยายประจำมหาวิทยาลัยแคนเตอร์บิวรี่ นิวซีแลนด์ (ที่งานเลี้ยงบ้านใหม่ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ) ในระหว่างพูดคุยเรื่องประวัติศาสตร์ไทย ผมได้เอ่ยถึงเรื่องรายงานนี้ที่กอบเกื้อพูดถึงในเชิงอรรถ ดร.โอ๊คคีย์ กล่าวว่า เขามีสำเนาของรายงานและยินดีจะส่งให้ผมดู หลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้รับสำเนาถ่ายเอกสารของรายงาน (จากต้นฉบับที่พิมพ์จากไมโครฟิล์มอีกต่อหนึ่ง) จาก ดร.โอ๊คคีย์ ซึ่งผมต้องขอบคุณอย่างสูง

นอกจากคำแปลรายงานของเกจแล้ว ในที่นี้ผมยังได้คัดลอกจดหมายโต้ตอบระหว่างราชสำนักกับรัฐบาล เกี่ยวกับกรณีที่ในหลวงไม่ทรงเสด็จเข้าร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษเนื่องจากทรงพระประชวร ซึ่งผมเพิ่งอ่านพบเมื่อเร็วๆนี้มาให้ดูกันด้วย ข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดจะเป็นส่วนหนึ่งของบทความใหม่ของผมเรื่อง "พิบูล-เผ่า กับ ราชสำนัก (2496-2500)"
The King and I
โชคไม่ดี ผมไม่มีโอกาสรายงานจากกรุงเทพก่อนที่จะเดินทางออกจากที่นั่น ว่าเกิดอะไรขึ้นในการเข้าเฝ้าของผมเพื่อถวายบังคมลา เนื่องจากการเข้าเฝ้านั้นมีขึ้นในบ่ายวันก่อนหน้าที่ผมจะออกเดินทาง โดยถูกเลื่อนมาจากกำหนดเดิมในต้นสัปดาห์นั้น เนื่องจากผมถูกไข้หวัดใหญ่เล่นงานอย่างหนัก. การเข้าเฝ้าของผมมีขึ้นที่พระราชวังฤดูร้อนของในหลวงที่หัวหิน ในบ่ายวันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม. ผมกับภรรยาได้พยายามเป็นพิเศษที่จะเจียดเวลาว่างที่แทบไม่มี ให้กับการเข้าเฝ้า เนื่องจากพระองค์เจ้าธานี ประธานองคมนตรีได้บอกกับผมว่า ในหลวงทรงปรารถนาที่จะพบผมเป็นพิเศษ เราบินไปหัวหินบนเครื่องบินของผู้ช่วยทูตทหารอากาศ โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที ซึ่งทำให้เราสามารถลดทอนการเสียเวลาซึ่งมีไม่มากอยู่แล้ว ให้น้อยที่สุด

นี่เป็นครั้งแรกนับแต่ผมได้รู้จักกับท่าน ที่ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทยกับผม. ดูเหมือนท่านจะทรงเห็นว่าเสถียรภาพของรัฐบาลถูกสั่นคลอนอันเนื่องมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการเลือกตั้ง แต่ท่านก็ไม่ได้ทรงแสดงความเห็นว่าวิกฤติการณ์ครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร. ท่านทรงกล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ อาจจะสิ้นสุดภายใน 3 เดือน หรือไม่ก็ 3 ปี. ท่านเห็นว่ายังไม่อาจพูดได้ในขณะนี้ว่า วิกฤติจะยืดเยื้อนานเพียงไร. ท่านทรงชี้ว่า ภายใต้เงื่อนไขที่แน่นอนและภายใต้การนำของบุคคลบางคน [certain personalities] กองทัพสามารถเป็นประโยชน์ [be of service] ต่อพระมหากษัตริย์และรัฐได้ ด้วยการกลายเป็นกองทัพที่ไม่ยุ่งการเมือง [becoming non-political] ท่านไม่ได้ระบุบุคคล [personalities] แต่ผมได้ความรู้สึก [impression] ว่า ทั้งในหลวงและพระองค์เจ้าธานีไม่ได้ทรงไว้ใจสฤษดิ์จริงๆ

ในหลวงทรงแสดงออกว่าทรงขมขื่นอย่างยิ่ง [very bitter โกรธเคือง - สมศักดิ์] ต่อการปฏิบัติของรัฐบาลต่อพระองค์ในโอกาสการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นในกรุงเทพ และสถานทูตจะส่งรายงานเรื่องการฉลองนี้มาต่างหาก พระองค์ไม่ได้รับการปรึกษาจากรัฐบาลเกี่ยวกับรายละเอียดของงานและท่านทรงไม่พอพระทัยอย่างเห็นได้ชัดในประเด็นที่ว่ารายละเอียดของงานถูกกำหนดขึ้นในลักษณะที่ต้องการทำให้รัฐบาลมีความสำคัญมากเท่าๆกับพระองค์ - ถ้าไม่ใช่มากกว่า - ซึ่งความจริงงานฉลองควรมีพระองค์เองเป็นจุดศูนย์กลาง ในหลวงไม่ได้ทรงพยายามปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะทรงเป็นหวัด (ไม่ใช่ ไข้หวัดใหญ่ [influenza] ที่ถูกใช้เป็นข้ออ้างอย่างเป็นทางการ) พระองค์ทรงสามารถเข้าร่วมงานฉลองบางรายการได้ แต่ทรงจงใจไม่เข้าร่วมเอง ในหลวงทรงถูกวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์บางฉบับ (โดยมากของรัฐบาล) ในการที่ไม่ทรงเข้าร่วมงานฉลอง และผมได้ความรู้สึก [impression] ว่า คณะองคมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์เจ้าธานี เห็นว่าในหลวงทรงเล่นผิดไพ่ [played a wrong card ใช้ยุทธวิธีผิด - สมศักดิ์] ที่ไม่ทรงอย่างน้อยก็ปรากฏพระองค์ในงาน ผมคิดว่ารายงานเกี่ยวกับการฉลองครั้งนี้ของสถานทูตเราคงจะกล่าวถึงประเด็นนี้อย่างแน่นอน ในหลวงบอกผมว่า เมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเกือบจะ "ล้อมกรอบ" ["framed" ใส่ความผิดๆ - สมศักดิ์] พระองค์ ในหลวงไม่ได้ทรงอธิบายว่าในแง่ใด แต่มหาดเล็กสนองพระโอษฐ์ดูเหมือนจะคิดว่าพระองค์ทรงหมายถึงเรื่องเรื่องไม่ดี [contretemps] เกี่ยวกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

ในระหว่างการสนทนาของเรา ประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ที่ปรีดีจะเดินทางกลับประเทศไทยได้ถูกหยิบยกขึ้นมา ในหลวงไม่ทรงคิดว่ามีความเป็นไปได้มากนักเมื่อคำนึงว่าปรีดีคงไม่ต้องการเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูกจับและถูกขึ้นศาล (ในข้อหาเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระเชษฐา ในหลวงอานันท์) เป็นเรื่องน่าสนใจที่ในบรรดาการพบปะพูดคุยเพื่ออำลาบุคคลต่างๆของผมทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกับนายกรัฐมนตรี นายร้อยเอกรักษ์ และพระองค์เจ้าวรรณ มีเพียงพระองค์เจ้าวรรณเท่านั้นที่เห็นชอบกับการกลับมาของปรีดี "ไม่ใช่อย่างลับๆหรือไม่ใช่ด้วยการเชิญของรัฐบาล แต่ด้วยความปรารถนาของปรีดีเอง และถ้าเขาพร้อมจะเผชิญกับผลที่ตามมาใดๆ" พระองค์วรรณทรงมีความเห็นดังกล่าวบนพื้นฐานที่ว่าปัญหานี้ต้องได้รับการเผชิญไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ดังนั้นยิ่งเร็วก็ยิ่งดี ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย แม้ว่าปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งนายกรัฐมนตรีและรักษ์ไม่เห็นด้วยอย่างหนักแน่นกับการกลับของปรีดี และอันที่จริง, ดังที่คุณคงเห็นจากโทรเลขของสถานทูตเมื่อเร็วๆนี้แล้ว, ถึงกับขอร้องให้รัฐบาลอังกฤษพยายามอย่างเต็มที่ที่จะป้องกันไม่ให้กลุ่มวัฒนธรรมและกีฬาของไทยเดินทางข้ามจากเกาะฮ่องกงเข้าไปในจีนคอมมิวนิสต์หรือเดินทางกลับจากจีนมาฮ่องกง บนพื้นฐานที่ว่า พวกนั้นไม่ใช่อะไรนอกจาก "ตัวแทนของปรีดี" ["Pridi's agents"] ทางสถานทูตจะรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนทนาเหล่านั้นของผม

ในตอนท้ายของการเข้าเฝ้า ในหลวงทรงพระราชทานพระบรมฉายาของพระองค์กับสมเด็จพระราชินีซึ่งทรงลงพระปรมาภิไธยให้ผม พระองค์ยังทรงพระราชทาน, ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมแปลกใจมาก, เครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อ [personal cipher] ซึ่งทรงกล่าวทันที, ทรงมองผมอย่างรู้ว่าผมคิดอะไรอยู่, ว่า "นี่ไม่ใช่เครื่องราชอิสริยาภรณ์" เมื่อผมถามเจ้ากรมพิธีการก็ได้รับคำตอบว่า "นี่ไม่ใช่เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตรา แต่เป็นของที่ระลึกส่วนพระองค์เพื่อแสดงว่าทรงโปรดปราน" [personal token of His Majesty's esteem] อเล็ก อาดัมส์ [Alec Adams] คงสามารถให้คำอธิบายมากกว่านี้ว่าเรื่องนี้จะหมายความว่าอย่างไร และถ้าผมกลับไปแล้ว ผมสามารถจะพูดคุยกับกรมพิธีการได้ ถ้าจำเป็น ว่าควรทำอย่างไรกับเครื่องหมายนี้ดี [ปกติการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเรื่องทางการที่รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายต้องรับรู้และเห็นชอบก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและบางครั้งก็ยุ่งยากพอสมควร ตัวเครื่องราชฯ ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้รับ - สมศักดิ์]

ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาระหว่างการเข้าเฝ้าของผม คือก่อนหน้านี้พระองค์เจ้าธานีได้ทรงบอกผมว่า ในหลวงทรงรู้สึกเสียพระทัย [hurt] หลังการสวรรคตของพระเชษฐา ต่อทัศนะที่ในหลวงทรงเข้าใจว่า "บุคคลในแวดวงชั้นสูง" ของลอนดอนโดยทั่วไปเชื่อกัน ที่ว่า พระองค์ท่านทรงมีส่วนรับผิดชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อการสวรรคต ผมได้ปฏิเสธว่าไม่เคยทราบทัศนะเช่นนั้นมาก่อน แต่พระองค์เจ้าธานีทรงกล่าวขอร้องต่อไปว่า รัฐบาลอังกฤษควรรีบส่งคำกราบบังคมทูลเชิญในหลวงและพระราชินีของไทย ให้ทรงเสด็จประพาสสหราชอาณาจักร ตามเวลาที่สะดวกของพระราชินีนาถอลิซาเบธและของในหลวงพระราชินีไทย พระองค์เจ้าธานีกล่าวว่า ฝ่ายอเมริกันได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ในหลวงจะทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง [would particularly appreciate] หากได้คำเชิญเสด็จจากพระราชินีนาถอลิซาเบธ เมื่อผมเอ่ยเรื่องนี้กับในหลวงในระหว่างเข้าเฝ้า ทรงกล่าวว่า พระองค์กับพระราชินีทรงปรารถนาที่จะเสด็จเยี่ยมพระราชินีนาถอลิซาเบธ แต่พวกท่านต้องทรงเสด็จเยี่ยมภาคต่างๆของไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก่อน [ปัญหาการเสด็จเยือนต่างจังหวัด ต่างประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ของในหลวง เป็นประเด็นทางการเมืองสำคัญในช่วงนี้ และช่วงสฤษดิ์ที่ตามมา ซึ่งผมจะอธิบายรายละเอียดในบทความ - สมศักดิ์]

ปัญหาการออกคำเชิญให้ในหลวงและพระราชินีของไทยเสด็จเยือนสหราชอาณาจักร เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนที่ผมเริ่มมารับหน้าที่เป็นทูต และคุณอาจจะต้องการดูจดหมายโต้ตอบในครั้งนั้นด้วย ความเป็นจริงก็คือ ในหลวงและพระราชินีของไทยคงไม่ทรงสามารถทำเช่นนั้นได้ภายใน 2 หรือ 3 ปีข้างหน้า แต่การได้รับคำเชิญแต่เนิ่นๆจะสร้างความพึงพอใจให้กับฝ่ายราชสำนักไทยอยู่นั่นเอง นี่จะเป็นเรื่องของทูตคนต่อจากผม แต่คุณอาจจะต้องการพูดคุยกับผมก็ได้เมื่อผมกลับไป

ผมส่งสำเนาจดหมายนี้ให้กับอเล็ก อาดัมส์ ที่กรุงเทพด้วย

ด้วยความจริงใจ,
เบิร์กเลย์ เกจ
(B.E.F. Gage)



ต่อไปนี้คือจดหมายโต้ตอบระหว่างราชสำนักกับรัฐบาล กรณีในหลวงทรงพระประชวร ไม่ได้เสด็จงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

เอกสาร (ก) บันทึกข้อความจากเลขาธิการสำนักพระราชวัง ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พร้อมบันทึกของนายแพทย์ประจำพระองค์
ขอประทานเสนอ

เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกรณียกิจในงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ และพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขะบูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ซึ่งได้แจ้งให้สำนักพระราชวังทางกรุงเทพฯดำเนินไปแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะทรงพระประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประชวรพระโรคหวัด มาตั้งแต่การพระราชพิธีฉัตรมงคลแล้ว แต่ที่มิได้มีพระราชกระแสงดเสด็จพระราชดำเนินเสียแต่แรก ก็เพราะทรงคาดว่าเมื่อใกล้เวลาพิธี พระอาการอาจจะเป็นปรกติ เสด็จพระราชดำเนินได้ แต่เมื่อถึงวันที่จะเสด็จฯมาพระนคร นายแพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายตรวจแล้ว ถวายคำแนะนำไม่ให้เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระนคร ปรากฏรายละเอียดในสำเนารายงานของนายแพทย์ประจำพระองค์ที่ได้แนบมาพร้อมนี้ จึงขอประทานเสนอเพื่อทราบ

[ลายเซ็น]
12 พ.ค. 2500
พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ขณะที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงมีพระอาการปวดเมื่อยที่พระอังศะซ้าย ตลอดจนถึงพระกร มีมูลพระนาสิกไหลและแสบพระศอ ไม่มีไข้ ได้ถวายพระโอสถตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ พระอาการทุเลาขึ้นบ้าง แต่จะมีพระอาการทางพระศออยู่

วันที่ ๖ พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับหัวหิน ในขณะเสด็จพระราชดำเนินนั้น อากาศร้อนอบอ้าวผิดปรกติ พระอาการจึงเพิ่มขึ้นอีก ได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำไม่ให้เสด็จฯลงสรงน้ำหรือตากแดด หรือประทับในที่อบอ้าว แต่ประทับในที่โปร่งได้ พระอาการหวัดยังคงมีอยู่ตลอดมาจนถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม พระอาการพระศอซึ่งก่อนหน้านั้นทุเลาขึ้นเล็กน้อย กลับมีพระอาการแสบขึ้นอีก พร้อมกับมีพระเสมหะติดอยู่มาก ทั้งมีพระอาการมึนพระเศียรด้วย

ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม เวลา ๑๐.๐๐ น. ได้ถวายตรวจพระอาการ ปรากฏว่า มีพระอาการมากขึ้นและความดันพระโลหิตได้ขึ้นสูงกว่าปรกติมาก จึงได้กราบบังคมทูลถวายคำแนะนำว่า ยังไม่สมควรจะเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ เพราะขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดในประเทศใกล้เคียง และมีทีท่าที่จะแผ่กระจายเข้ามาในประเทศไทย เมื่อพระอาการไม่ดีอยู่เช่นนี้ ประกอบกับการเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯโดยรถยนตร์ในอากาศอบอ้าว ทั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปประกอบพระราชกรณียกิจในหมู่ที่มีชุมนุมชนมากเช่นนั้น เป็นการเสี่ยงต่อพระราชอนามัยอย่างมาก

(ลงชื่อ) เกษตร สนิทวงศ์
นายแพทย์ประจำพระองค์
๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๐ เวลา ๑๑.๓๐ น.



เอกสาร (ข) คำสั่งของ จอมพล ป. ให้เผยแพร่บันทึกแพทย์เรื่องอาการประชวร
เมื่อได้รับจดหมายเลขาธิการสำนักพระราชวังข้างต้น จอมพล ป. ได้เขียนด้วยลายมือต่อท้ายจดหมาย ดังนี้
ทราบแล้ว ให้ทาง ส.ล.ม. [สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี - สมศักดิ์] จัดการ ดั่งนี้

1) ให้ทาง [อ่านไม่ออก เข้าใจว่า "ส.ล.ม.ทำหนังสือ" - สมศักดิ์] ว่า ค.ร.ม. รับทราบ และถวายพรให้หายเร็ว มาลงนาม

2) ให้จัดการออกข่าวแพทย์ที่แนบมานี้ (หารือราชเลขาฯดูด้วย)

ป. พิบูล
13 พ.ค. 2500
เมื่อได้รับคำสั่งเช่นนี้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร จึงได้ส่งหนังสือข้างต้นที่มีคำสั่งของจอมพล ต่อไปยังราชเลขาธิการ ดังนี้
ทูล ราชเลขาธิการ

โปรดทราบ พิจารณาคำสั่งท่านนายกฯข้อ 2

[ลายเซ็น]
13 พ.ค. 2500



เอกสาร (ค) หนังสือจากราชเลขาธิการ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
หลังจากได้รับหนังสือของเลขาธิการ ครม.แล้ว ราชเลขาธิการ (ม.จ.นิกรเทวัญ เทวกุล) ได้มีหนังสือตอบ ขอให้สังเกตน้ำเสียงแสดงความไม่สุ้พอพระทัยต่อคำสั่งของจอมพล เรื่องให้เผยแพร่บันทึกแพทย์
ตามที่เลขาธิการ ค.ร.ม. ได้ส่งคำสั่งของท่านนายก ร.ม.ต. เรื่องให้จัดการออกข่าวแพทย์ที่เลขาธิการสำนักพระราชวังรายงานไปยัง พณ ท่านฯ มาให้พิจารณานั้น

ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งที่ให้ออกข่าวของแพทย์มิได้เป็นคำสั่งให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ดำเนินการ โดยปรกติเมื่อทรงพระประชวรในราชอาณาจักร์ การแถลงข่าวพระประชวร ตามรายงานของแพทย์ เห็นสำนักพระราชวังเคยเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ แต่คำสั่งของท่านนายก ร.ม.ต. นี้ เจาะจงให้ออกข่าวที่แนบมาเท่านั้น มิได้หมายถึงการออกข่าวต่อๆไปด้วย แม้ข้าพเจ้าออกจะเห็นว่า ข่าวแพทย์ที่นายก ร.ม.ต. ให้แถลงนั้น เป็นข่าวที่ผ่านพ้นมาหลายวันแล้ว ข้าพเจ้าก็จะได้วิทยุไปทางรองราชเลขาธิการว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯให้สำนักราชเลขาออกข่าวรายงานของแพทย์ประจำวันต่อไปแล้ว ก็ขอให้โทรเลขข้อความในรายงานเช่นว่านั้นเข้ามาด้วย เพื่อออกข่าวได้ทันการ ข้าพเจ้ายังไม่สู้แน่ใจนักว่า พระอาการจะถึงขั้นต้องแถลงข่าวประจำวัน

ข้าพเจ้ามีความเห็นดั่งนี้ ขอให้เรียนเลขาธิการ ค.ร.ม. ฝ่ายการเมืองด้วย

(ลงพระนาม) ม.จ. นิกรเทวัญ เทวกุล
14 พ.ค. 2500

Monday, July 03, 2006

บางด้านของระบอบสฤษดิ์ : ปัญหาป๋วย, การประหารชีวิตครอง และสฤษดิ์กราบบังคมทูลวิเคราะห์ลักษณะพิเศษของภาคอีสานที่เป็นสาเหตุขบวนการคอมมิวนิสต์และ “แยกดินแด


คุณพ่อเชื่อมั่นคงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสิทธิของผู้ต้องหาตลอดจนเสรีภาพทางความคิดและอุดมการ

จอน อึ๊งภากรณ์ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๗


ผมคิดว่า เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการที่สฤษดิ์อาศัย “ม.๑๗” สั่งประหารชีวิต ศุภชัย ศรีสติ, รวม วงษ์พันธ์, ครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.๑๗ ประหารชีวิตผู้ต้องหา “วางเพลิง”..... เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ ดร.ป๋วยจะไม่เห็นด้วยกับการจับอดีตนักการเมือง นักเขียน นักนสพ. ชาวบ้าน หลายร้อนคน มาขังลืมในคุกเป็นเวลาหลายๆปี ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ดร.ป๋วยคงไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมี “ความเชื่อมั่นคงใเรื่องกระบวนการยุติธรรม....” แต่ถ้าเช่นนั้น ก็ยิ่งต้องตั้งคำถามว่า การที่ ดร.ป๋วยยังคงทำงานอยู่กับระบอบที่ทำในสิ่งตรงข้ามกับ “ความเชื่อมั่นคง” ของ ดร.ป๋วยเช่นนี้ แปลว่าอะไร?

แปลว่า “ความเชื่อมั่นคง” ในเรื่องเหล่านี้ (กระบวนการยุติธรรม, สิทธิผู้ต้องหา, เสรีภาพทางความคิด) แท้ที่จริง หาได้มีความสำคัญพอ แม้แต่จะทำให้ ดร.ป๋วย เพียงแสดงตัวออกห่าง (distance himself) จากระบอบสฤษดิ์ ไม่ต้องพูดถึงขั้นว่า แตกหัก (break) หรือออกมาวิจารณ์ด้วยซ้ำ ใช่หรือไม่?

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๗


ป๋วยกับสฤษดิ์
เมื่อปีกลาย ผมได้แลกเปลี่ยนกับ ส.ว.จอน อึ๊งภากรณ์เกี่ยวกับปัญหาการทำงานให้กับสฤษดิ์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งผมเห็นว่า มีนัยยะต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ โดยเฉพาะในประเด็นบทบาทของปัญญาชนเสรีนิยม (อ่านได้ที่นี่) ขณะที่แลกเปลี่ยนนั้น ผมมีภาพการทำงานให้สฤษดิ์ของป๋วย กรณีการรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสำคัญ

เมื่อเร็วๆนี้ ในระหว่างที่รวบรวมศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบอบสฤษดิ์ ผมจึงได้ทราบว่า ความสัมพันธ์ในแง่การทำงานให้กับสฤษดิ์ของป๋วย มีมากกว่าการรับเป็นผู้ว่าแบ็งก์ชาติ และไม่ใช่เพียงในฐานะเป็นข้าราชการประจำธรรมดาทั่วๆไป แต่มีบทบาทสัมพันธ์กับเรื่องเชิงนโยบาย กล่าวคือ ทันทีที่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ (ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยปกครองด้วย “คณะปฏิวัติ” ใช้การออกคำสั่ง ไม่ต้องมีมติคณะรัฐมนตรี) สฤษดิ์ได้ตั้งให้ป๋วยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อันที่จริง กล่าวได้ว่า ป๋วยเป็นข้าราชการระดับสูงคนแรกที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง (โปรโมท) โดยคณะรัฐมนตรีสฤษดิ์ คือในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ ๑/๒๕๐๒ วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ได้มีมติรับรองการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งข้าราชการ ดังนี้


ท่านนายกรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษให้ดำรงตำแหน่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง คือ

๑. นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง กระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ

๒. นายมนูญ บริสุทธิ์ ผู้อำนวยการกองนิติธรรม และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

๓. หลวงชำนาญอักษร เลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ไปประจำกรม กรมตรวจราชการแผ่นดิน

๔. นายปุ่น จาติกวนิช รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ไปประจำกรม สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ เป็นต้นไป . . . .

มติ – เห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

น่าสังเกตว่า นอกจากป๋วยแล้ว อีก ๓ คนล้วนเกี่ยวข้องกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผมไม่ทราบว่าสาเหตุที่ หลวงชำนาญฯและปุ่น ถูกลดตำแหน่งคืออะไร แต่ทั้งคู่เป็นข้าราชการที่ทำงานในสำนักนี้มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคณะราษฎร (ก่อน ๒๔๙๐) กรณีป๋วยนั้น ในชีวประวัติมาตรฐานที่มีการเผยแพร่ทั่วไป กล่าวว่า สฤษดิ์ชวนให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เขาปฏิเสธโดยอ้างเหตุผลเรื่องสมัยเสรีไทยเคยสาบาลว่าทำเสรีไทยไม่ใช่เพื่อรับตำแหน่ง ผมไม่มีข้อมูลยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องเสรีไทยนี้ แต่เป็นไปได้ว่า ป๋วยอาจถูกขอให้เป็นรัฐมนตรีคลังจริง และปฏิเสธ (รัฐมนตรีคลังจะกลายเป็นตำแหน่งที่มีปัญหาและต้องเปลี่ยนในเวลาไม่กี่เดือน) สฤษดิ์จึงขอให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณแทน และนี่คงอธิบายว่า เหตุใดเขาจึงเป็นข้าราชการคนแรกที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เลื่อนตำแหน่ง (คือถัดจากการรับตำแหน่งของรัฐมนตรีเอง)

ประเด็นที่น่าสนใจในที่นี้อยู่ที่ว่า สฤษดิ์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสำนักงบประมาณอย่างที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน คือ เขาได้กำหนดว่า “ในเรื่องการออกกฎหมายนั้น อยากจะซ้อมความเข้าใจว่า ถ้าไม่จำเป็นแล้ว อย่าออกกฎหมายเลย ในเรื่องการออกกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆ อะไรเหล่านี้ ทุกฉบับควรจะได้ผ่านสำนักงบประมาณพิจารณาก่อน เพราะอาจมีเรื่องต้องใช้เงินงบประมาณ ทางสำนักงบประมาณจะได้รู้เรื่อง จะได้จัดเตรียมงบประมาณให้” (การประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๙/๒๕๐๒ วันที่ ๒ เมษายน ๑๕๐๒) นี่คือสาเหตุที่มีข้าราชการระดับบริหารของสำนักงบประมาณเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นเสมอ

เท่าที่ผมรวบรวมค้นคว้าได้ขณะนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า รัฐบาลสฤษดิ์ให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณ ๓ ประเภทเป็นพิเศษ ซึ่งหมายความว่าสำนักงบประมาณจะต้องมีบทบาทสำคัญ (และหมายความว่า สฤษดิ์ต้องไว้วางใจผู้ที่เขาเลือกให้เป็นผู้อำนวยการสำนักอย่างยิ่งด้วย) คืองบด้านการพัฒนา, งบทางทหารรวมทั้ง “งบราชการลับ” และ งบด้านราชสำนัก เช่น การเสด็จเยือนต่างประเทศทั่วโลก การฟื้นฟูประเพณีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ต่างๆ ได้แก่ งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา, พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, พิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค (ในปีแรกที่มีงานวันเฉลิมฯ และจรดพระนังคัล งบประมาณประจำปีถูกกำหนดไปแล้ว สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบประมาณให้เป็นพิเศษ เป็นต้น)

เกี่ยวกับการพยายามหาเทคโนแครตมาช่วยงานนี้ สฤษดิ์กล่าวในโอกาสเดียวกับข้างต้นว่า “การตั้งคณะที่ปรึกษาต่างๆ ยังล่าช้าอยู่บ้าง ก็เพราะต้องพิจารณาเลือกคนที่ดีจริงๆเข้ามาร่วมงาน จึงต้องใช้เวลาบ้าง เพราะผมก็ไม่รู้จักคนมากนัก จึงใคร่ขอให้ท่านรัฐมนตรีช่วยเสนอคนที่เห็นว่าเป็นผู้มีความรู้และเป็นคนดีมาบ้าง เพื่อจะได้มาช่วยกันเพราะยังมีคนดีๆที่หวังดีต่อประเทศชาติอยู่อีกไม่น้อย และอยากจะได้คนวัย ๔๐ ปี เพราะไม่หนุ่มหรือแก่เกินไป” ขณะนั้นป๋วยอายุ ๔๓ ปี หลังจากเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในเวลาใกล้เคียงกัน สฤษดิ์ก็ตั้งให้ป๋วยเป็น ๑ ในกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (พร้อมด้วยคนอย่าง ทวี บุญยเกต, เล้ง ศรีสมวงศ์ ม.ล.เดช สนิทวงศ์) กล่าวได้ว่า ป๋วยไม่ใช่อยู่ในประเภทคนที่สฤษดิ์ “ไม่รู้จักมากนัก” เพราะได้รับการแต่งตั้ง ตั้งแต่แรกๆ

และด้วยความสัมพันธ์ในการทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลสฤษดิ์ดังกล่าว (แม้จะไม่ได้เป็นรัฐมนตรี) ป๋วยได้เข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๔ ซึ่งมีวาระพิจารณาอนุมัติให้สฤษดิ์ใช้ ม.๑๗ สั่งประหารชีวิตครอง จันดาวงศ์ และ ทองพันธุ์ สุทธิมาศ ตามบันทึกการประชุม ในครั้งนั้น มีรัฐมนตรีเข้าร่วม ๑๕ คน (รวมทั้งตัวสฤษดิ์เอง) เจ้าหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ๓ คน (เลขาธิการและรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, หัวหน้ากองการประชุม) และมีผู้อื่นที่เข้าร่วมประชุม ดังนี้

ผู้อยู่ในห้องประชุม
๑. พันเอก หลวงวิจิตรวาทการ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี
๒. พลโท เนตร เขมะโยธิน เลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี
๓. พลโท อัมพร จินตกานนท์ เลขาธิการบริหารของนายกรัฐมนตรี
๔. นาย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
๕. นาย ประสงค์ หงสนันท์ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
๖. พลตรี แสวง เสนาณรงค์ รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี
๗. พลตรี เฉลิมชัย จารุวัสตร์ รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี
๘. นาย สงวน จันทรสาขา รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี
๙. นาย สิริ ปกาสิต รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
๑๐. นาย บุญธรรม ทองไข่มุกด์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
การที่มีเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของสำนักงบประมาณเข้าประชุมถึง ๓ คนนี้ เพราะวันนั้นมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องต่างๆหลายเรื่อง รวมถึง ๓ วาระที่ติดกันก่อนเรื่องการประหารครอง-ทองพันธุ์ (มีเพียงวาระหนึ่งคั่นอยู่) แน่นอนว่า ในแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่า การที่ป๋วยเข้าร่วมประชุมครั้งนั้นหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ (รวมถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ป๋วยอาจจะเดินออกจากห้องประชุมก่อนวาระนี้ แต่ดังที่เพิ่งกล่าวว่า วาระที่ใกล้ๆกันก่อนหน้านี้เป็นเรื่องงบประมาณ) เพราะต่อให้ไม่เข้าร่วมประชุม การใช้ ม.๑๗ ประหารครอง-ทองพันธุ์ เป็นเรื่องที่ยากที่ป๋วยหรือใครก็ตามที่ทำงานกับสฤษดิ์ขณะนั้นจะ “ตกข่าว” ได้ (การใช้ ม.๑๗ ประหารชีวิตทางการเมืองก่อนหน้านั้น ๒ ครั้ง คือ ประหาร ศิลา วงศ์สิน และ ศุภชัย ศรีสติ ไม่มีบันทึกผู้เข้าร่วมประชุม) แต่การได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นของป๋วย ทำให้ประเด็นเรื่องเขาทำงานให้สฤษดิ์ที่ “มือเปื้อนเลือด” ผู้บริสุทธิ์ (ผู้ไม่เคยถูกขึ้นศาลเลย ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์) มีลักษณะ dramatic ยิ่งขึ้น


การใช้ ม.๑๗ ประหารชีวิตครอง จันดาวงศ์ และทองพันธุ์ สุทธิมาศ
เกี่ยวกับการประหารชีวิตครอง-ทองพันธุ์ด้วย ม.๑๗ นี้ สฤษดิ์ได้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งเดียว ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๐๔ ต่างกับก่อนหน้านั้น ในกรณี ศิลา วงศ์สิน และ ศุภชัย ศรีสติ ในปี ๒๕๐๓ ซึ่งสฤษดิ์ขอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับการใช้ ม.๑๗ ประหารชีวิตในการประชุมครั้งหนึ่ง แล้วขอให้ทบทวนยืนยันในการประชุมอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง ๒ กรณี (กรณีศิลา วันที่ ๒๒ และ ๒๖ มิถุนายน, กรณีศุภชัย วันที่ ๑ และ ๖ กรกฎาคม) ผมยังไม่มีคำอธิบายที่แน่นอนถึงความแตกต่างนี้ อาจเป็นได้ว่า สฤษดิ์เริ่ม “เคยชิน” กับการใช้ ม.๑๗ สั่งประหารชีวิต จึงไม่ต้องทบทวนซ้ำเหมือน ๒ กรณีแรก (การสั่งประหารชีวิตรวม วงศ์พันธ์ด้วย ม.๑๗ ในเวลาต่อมา ก็นำเสนอเพียงครั้งเดียว ในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๐๕)

สฤษดิ์เสนอรายงานของกรมตำรวจว่า ได้จับกุมครอง จันดาวงศ์ที่อำเภอสว่างแดนดิน สกลนคร เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๔ พร้อมด้วยทองพันธุ์ สุทธิมาศ และสมัครพรรคพวกอีกรวม ๑๐๘ คน ในจำนวนนี้ได้ให้การรับสารภาพ ๔๘ คน มีผู้มามอบตัวและสารภาพเพิ่มอีก ๖ คน โดยรวมแล้วเจ้าหน้าที่ได้ทำการสอบสวนทั้งสิ้น ๙๕ คน ผลการสอบสวน กรมตำรวจสรุปว่า

๑. ภายหลังที่ ร.อ.กองแล ยึดอำนาจในราชอาณาจักรลาว เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๐๓ เป็นต้นมา นายครอง จันดาวงศ์ ได้ชักชวนให้คนเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อตั้งสมาคมลับให้ชื่อว่า “สามัคคีธรรม” จัดแยกคนที่เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกออกทำหน้าที่หาพรรคพวกต่อไป เรียกเก็บเงินจากผู้ที่เข้าเป็นสมาชิก อบรมชี้แจงให้สมัครพรรคพวกเข้าใจว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะสามารถนำความสุขสมบูรณ์มาให้แก่ประชาชน ประเทศคอมมิวนิสต์จะให้ความช่วยเหลือตั้งโรงงานให้คนมีงานทำ และบำรุงความเจริญด้วยประการต่างๆ

๒. นายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ได้เรียกประชุมพรรคพวก มีการประชุมกันถึง ๒๑ ครั้งในที่ต่างๆกัน และใช้ดงผาลาด ในเขตจังหวัดสกลนครกับหนองคายติดต่อกัน เป็นที่ประชุมและฝึกสอนการใช้อาวุธยุทธภัณฑ์ ในการประชุมอบรมพรรคพวกนี้ นายครอง จันดาวงศ์ ได้แสดงแผนการร้าย ทั้งแก่ประเทศชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

เกี่ยวกับประเทศ นายครอง จันดาวงศ์ ได้แสดงแผนการล้มล้างรัฐบาล โดยกำหนดเอาเดือนมิถุนายน ๒๕๐๔ นี้เป็นเวลากระทำการ เพราะคาดหมายว่า ขบวนการปเทศลาวจะสามารถยึดลาวได้ทั้งประเทศ และจะส่งกำลังอาวุธมาให้ จึงจะเริ่มต้นด้วย ยึดสถานีตำรวจสว่างแดนดิน และในเขตอำเภออื่นๆ ซึ่งพลเรือนที่เป็นชาวญวนจะให้ความร่วมมือด้วย และจะมีกำลังต่างชาติเข้ามาช่วยให้การยึดอำนาจในประเทศไทย หรือย่างน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาค เป็นผลสำเร็จ แล้วก็จะเอาดินแดนที่ยึดได้ไปรวมกับประเทศลาวภายใต้การปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์

เกี่ยวกับชาติ นายครอง จันดาวงศ์ ได้ตั้งเป็นภาษิตว่า “ลาวเป็นลาว” และอบรมพรรคพวกของตนว่า ดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ แต่ก่อนเคยเป็นประเทศลาวอิสระ แต่ไทยเข้ามายึดครองและกดขี่ข่มเหงชาวลาว นายครอง จันดาวงศ์ จึงเรียกร้องให้ชาวลาวกอบกู้อิสรภาพของตน ซึ่งเป็นวิธีการของคอมมิวนิสต์ ที่ชอบเผยแพร่ลัทธินี้ด้วยวิธีที่เรียกว่า ปลดแอก

เกี่ยวกับศาสนา นายครอง จันดาวงศ์ ได้ประนามพระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนาว่า เป็นบุคคลที่ไม่ทำประโยชน์อะไรและแสดงแผนการว่า เมื่อได้ปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์แล้ว ก็จะเอาพระภิกษุสามเณรมาบังคับใช้แรงงาน

เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ นายครอง จันดาวงศ์ ได้ใช้วิธีอบรมพรรคพวกด้วยการลบหลู่พระบรมเดชานุภาพอย่างแรงร้าย ปั้นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงขึ้นมากล่าวร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และแสดงแผนการว่า เมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาครอบครองประเทศไทยได้ทั้งหมดแล้ว ก็จะเอาพระมหากษัตริย์มาบังคับใช้แรงงานเช่นเดียวกัน

๓. ส่วนนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ นั้น ได้เป็นกำลังช่วยเหลือนายครอง จันดาวงศ์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองหัวหน้า

อนึ่ง เพื่อให้บรรลุความสำเร็จตามแผนการที่กล่าวข้างต้น นายครอง จันดาวงศ์ และนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ได้ดำเนินการบ่อนทำลาย โดยจัดแบ่งพรรคพวกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งทำการเผยแพร่ อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่ปฏิบัติ คือทำโจรกรรม ลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์พาหนะ ชิงทรัพย์ และปล้นสดมภ์ แสดงให้คนเข้าใจว่า บัดนี้ทางบ้านเมืองไม่สามารถจะให้ความคุ้มครองแก่ราษฎรได้ แต่ผู้ใดมาเข้าเป็นพรรคพวกของนายครอง จันดาวงศ์ และนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ผู้นั้นก็จะรอดโจรภัยต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการโจรกรรมมากยิ่งขึ้นในจังหวัดต่างๆทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีคนเป็นอันมากได้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกของบุคคลทั้งสองนี้ด้วยความกลัวโจรภัย

การกระทำของนายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ดังกล่าว เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ คุกคามความสงบของประเทศชาติอย่างร้ายแรง เป็นการกบฏทรยศต่อประเทศชาติ เข้าข่ายมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ฯพณฯนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗ นั้น สั่งการประหารชีวิตนายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ โดยมิต้องนำตัวขึ้นฟ้องร้องยังโรงศาล เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ ทั้งเพื่อให้เป็นตัวอย่างป้องกัน การกระทำผิดชนิดนี้ต่อไปภายหน้า และขอมติคณะรัฐมนตรีตามความในมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เพื่อสั่งการตามที่กล่าวแล้วนี้ต่อไป

ตามบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ในการพิจารณาเรื่องนี้ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิระวงศ์ ผู้ทำการแทนอธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ท.กระเษียร ศรุตานนท์ ผู้ช่วยอธิบดี, พล.ต.ต.พจน์ เภกะนันท์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล, พ.ต.อ.วิสุทธิ์ วิสูตรศักดิ์ รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดน, พ.ต.อ.กระจ่าง ผลเพิ่ม ผู้บังคับกรเขต ๔ (อุดร) และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง “ได้เข้าร่วมชี้แจงเปิดเทปคำให้การและซักถามผู้ต้องหาและพยานบางคนด้วย” (น่าสังเกตว่า ไม่มีรายชื่อตำรวจเหล่านี้อยู่ในกลุ่ม “ผู้อยู่ในห้องประชุม” ข้างต้น ทั้งนี้เพราะพวกนี้เพียงเข้าร่วมประชุมวาระนี้วาระเดียว ขณะที่ผู้มีชื่ออยู่ในกลุ่ม “ผู้อยู่ในห้องประชุม” ซึ่งรวมทั้งป๋วย อึ๊งภากรณ์ น่าจะหมายถึง ผู้ที่อยู่ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนั้นโดยตลอดหรือเกือบตลอด)

ไม่มีบันทึกการอภิปรายในวาระนี้ นอกจากสรุป “มติ” ของคณะรัฐมนตรีเพียงว่า “เห็นชอบด้วยตามที่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ดำเนินการประหารชีวิตนายครอง จันดาวงศ์ กับนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ ได้”


สฤษดิ์กราบบังคมทูลวิเคราะห์ลักษณะพิเศษของภาคอีสาน
วันรุ่งขึ้นหลังการประหารชีวิตครอง-ทองพันธุ์ สฤษดิ์ได้ทำหนังสือฉบับหนึ่ง กราบบังคมทูลในหลวง “ถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งพระราชอาณาจักร” ซึ่งนับว่าแปลกไม่น้อย (ไม่มีการทำหนังสือกราบบังคมทูลหลังประหารศิลาหรือศุภชัยก่อนหน้านั้น หรือหลังประหารรวมในเวลาต่อมา) ในหนังสือฉบับนี้ สฤษดิ์ได้วิเคราะห์สาเหตุที่ภาคอีสานเกิดขบวนการกบฏและแบ่งแยกดินแดนบ่อยครั้งกว่าภาคอื่น โดยเสนอว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ภาคอีสานไม่เคยมีประสบการณ์ต่อสู้กับการรุกรานจากศัตรูภายนอกเหมือนภาคอื่น การ “วิเคราะห์” ในลักษณะนี้ ชวนให้สงสัยว่า หลวงวิจิตรวาทการอาจจะมีส่วนในการร่างหรือเป็นผู้ร่างหนังสือกราบบังคมทูลฉบับนี้เอง (ตั้งแต่ปีแรกที่จัดตั้งรัฐบาล สฤษดิ์ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการร่างสุนทรพจน์และรายงาน” มีหลวงวิจิตรเป็นประธาน มีกรรมการคนอื่น ได้แก่ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน, ดร.กนธีร์ ศุภมงคล, ดร.วิทย์ ศิวสริยานนท์, พ.อ.สนอง ถมังรักษ์สัตว์, มาลัย ชูพินิจ, สมัย เรืองไกร, ฉันทิชย์ กระแสสินธ์ และจินตนา ยศสุนทร เป็นต้น หน้าที่ข้อหนึ่งของคณะกรรมการคือ ร่าง “หนังสือที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลในเรื่องสำคัญที่มิใช่งานปรกติ” ตามคำสั่งแต่งตั้งนั้น “นายกรัฐมนตรีอาจมอบหมายงานให้บุคคลที่กล่าวนามข้างต้นนี้ ทำเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะ หรือมอบหมายให้หลายคนทำเป็นเรื่องๆไป หรือให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการที่จะมอบผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะตัว หรือให้หลายคนร่วมมือกันทำในความรับผิดชอบของประธานกรรมการก็ได้”)
ผมขอคัดลอกข้อความในหนังสือกราบบังคมทูลของสฤษดิ์มาให้ดูทั้งฉบับข้างล่างนี้ ยกเว้นบางประโยคในตอนท้าย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาว่า ครองกับทองพันธุ์ โจมตีพระมหากษัตริย์อย่างไรบ้าง ผมตัดออก แล้วใส่เครื่องหมาย [……] แทน เนื่องจากอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายได้ (ความจริงที่ว่า สฤษดิ์กล้าถึงขั้นเขียนข้อความเหล่านี้ลงไปในหนังสือกราบบังคมทูล นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง)

สำนักนายกรัฐมนตรี

๑ มิถุนายน ๒๕๐๔

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบบังคมทูลกรุณาเพื่อทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งพระราชอาณาจักร โดยมีบุคคลตระเตรียมและดำเนินการบ่อนทำลายความมั่งคงของราชอาณาจักรและราชบัลลังก์ ก่อกวนความสงบ มีแผนการอันเลวร้ายถึงขนาดที่จะเอาภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปรวมกับลาวภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ เจ้าหน้าที่ได้ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดมา และจับกุมผู้ก่อการร้ายได้เป็นจำนวนมาก ได้ทำการสอบสวนจนเป็นที่แน่ชัด ปราศจากข้อสงสัย เห็นสมควรและจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาด เพื่อป้องกันภัยของประเทศชาติ และเพื่อเป็นตัวอย่างยับยั้งการกระทำผิดคิดร้ายในทำนองนี้ต่อไปภายหน้า ข้าพระพุทธเจ้า ด้วยความสนับสนุนของมติคณะรัฐมนตรีเป็นเอกฉันท์ ได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร สั่งประหารชีวิต นายครอง จันดาวงศ์ หัวหน้าผู้ก่อการร้าย กับนายทองพันธุ์ สุทธิมาศ รองหัวหน้า และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เสร็จสิ้นไปแล้ว ที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๐๔ ส่วนผู้ต้องหาอื่นๆก็จะได้จัดการฟ้องร้องให้พิจารณาในศาลทหารตามวิธีการในระยะเวลาที่ประกาศในกฏอัยการศึกต่อไป

ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบทูลว่า การวินิจฉัยตัดสินใจสั่งประหารชีวิตบุคคลทั้งสองที่กล่าวนั้น มิได้กระทำอย่างรีบด่วน แต่ได้กระทำภายหลังที่ได้พิจารณาแล้วโดยรอบคอบและเที่ยงธรรม ฟังคำพะยานและคำสารภาพที่ให้การโดยสมัครใจแล้วถึง ๙๕ ปาก ดังแจ้งอยู่ในคำแถลงของรัฐบาลแก่ประชาชน ซึ่งได้ประกาศในคืนวันที่ ๓๑ พฤษภาคม และสำเนาคำสั่งให้ประหารชีวิต ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบบังคมทูลเกล้าถวายมาพร้อมกับรายงานกราบบังคมทูลนี้ด้วย

เป็นที่ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว เหตุการณ์กบฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ ได้มีมาหลายครั้งหลายหน ทั้งในประวัติศาสตร์และในยุคสมัยใหม่ เช่น เรื่องกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ เรื่องผีบุญต่างๆในกาลก่อน ในชั้นหลังนี้ ก็มีเรื่องนายเตียง ศิริขันธ์ เรื่องนายศิลา วงศ์สิน และโดยเฉพาะตัวนายครอง จันดาวงศ์ ที่ถูกประหารชีวิตครั้งนี้ ก็เคยต้องคำพิพากษาฐานกบฏ ศาลลงโทษอย่างหนักถึงจำคุก ๑๓ ปี กับ ๕ เดือน

ที่เป็นเช่นนี้ ด้วยเหตุหลายประการ เช่น

๑. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งราชอาณาจักร เป็นภาคที่มีพลเมืองหนาแน่น จังหวัดโดยมาก
มีพลเมืองตั้งครึ่งล้าน บางจังหวัดมากกว่า ๑ ล้าน แต่ละอำเภอมีพลเมืองตั้ง ๔ หรือ ๕ หมื่น จำนวนคนเกิดก็เพิ่มทวีรวดเร็วกว่าในภาคอื่น อันที่จริง ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็มีภาษาและขนบประเพณีเช่นเดียวกับภาคเหนือ แต่ดินแดนทางภาคเหนืออุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ประชาชนมีทางทำมาหาเลี้ยงชีพมาก ส่วนภาคตะวันออกเฉียง เหนือนั้น ทางทำมาหากินแร้นแค้นกว่า

๒. ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่เคยประสบการรุกรานสู้รบอย่างรุนแรงในประวัติศาสตร์เหมือนภาคอื่นๆ ในสมัยที่ประชาชนในภาคเหนือ ภาคกลาง ตลอดถึงภาคใต้ ต้องร่วมเป็นร่วมตายกัน ทำการต่อสู้อย่างฉกาจฉกรรจ์ เพื่อต่อต้านการรุกรานของพม่าในอดีต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รอดพ้นยุทธภัยอันนี้ตลอดมา ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้มีโอกาสที่จะร่วมเป็นร่วมตายกับพี่น้องชาวไทยทั้งหลายเพื่อประเทศชาติ เหมือนภาคอื่นๆ นิสัยเข้มแข็ง ความเป็นนักสู้ ความรักประเทศชาติ และความรู้สึกกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติไทย จึงย่อหย่อนกว่าประชาชนในภาคอื่น มีความขวนขวายน้อย พอใจในชีวิตที่ผ่านไปเป็นวันๆ ในลักษณะของประชาชนที่เป็นเช่นนี้ ย่อมตกเป็นเหยื่อของการปลุกปั่นชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย

๓. ดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจุดล่อแหลมต่อภัยคอมมิวนิสต์มากที่สุด เนื่องจากว่า คอมมิวนิสต์ที่ลี้ภัยในสมัยที่อินโดจีนต้องสู้รบกับฝรั่งเศสนั้น พากันเข้ามาพำนักอาศัย นายโฮจิมินเองก็ได้มาพักพิงอยู่ในแถวถิ่นนี้เป็นเวลานาน การเผยแพร่อบรมในลัทธิคอมมิวนิสต์ จึงได้เริ่มฝังรกรากอยู่ไม่น้อย ในบรรดาคนที่เป็นผู้ต้องหาครั้งนี้ บางคนที่ปรากฏว่ามีการศึกษาทั่วไปเพียงเล็กน้อย ยังสามารถพูดถึงเรื่อง Dialectic ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ด้วยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงหวาดเกรงอยู่เสมอมาว่า ถ้าราชอาณาจักรลาวตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริงแล้ว การที่คอมมิวนิสต์จะแทรกซึมเข้ามาในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นจะเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยากที่สุด

๔. เผอิญคนพวกหนึ่ง ซึ่งร่วมภาษา ร่วมขนบประเพณี และเกี่ยวพันทางสายโลหิตอย่างใกล้ชิดกับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนเพียง ๒ ล้าน ไม่ถึง ๑ ใน ๔ ของจำนวนพลเมืองในภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ได้มีโอกาสเป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์ มีรัฐบาล มีการปกครองเป็นอิสระ เรียกว่า “ราชอาณา จักรลาว” ก็ย่อมเป็นช่องทางให้ผู้คิดร้ายจูงใจให้เห็นว่า คนเพียง ๒ ล้านเท่านั้น ยังเป็นอาณาจักรอิสระได้ พลเมืองลักษณะอย่างเดียวกันถึง ๙ ล้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำไมจึงไม่คิดเป็นราชอาณาจักรขึ้นบ้าง หรือรวมกันกับราชอาณาจักรลาว ด้วยเหตุนี้ ความคิดเรื่องแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมิใช่ของใหม่ แต่เป็นความคิดที่มีอยู่เสมอมา ส่วนทางดินแดนภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ไม่มีเรื่องชนิดนี้

พฤติการณ์ทั้งหลายที่กล่าวข้างต้นนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวข้าพระพุทธเจ้าเอง ได้ให้ความสนใจในการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพิเศษ อันที่จริง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการทำนุบำรุงมาแล้ว ไม่น้อยกว่าภาคอื่น ถ้าจะนับปริมาณถนนหนทางที่สร้างให้ก็มากกว่าภาคอื่น ในสมัยที่มีผู้แทนราษฎร พวกผู้แทนชาวตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่เรียกว่า ชาวอีสาณ ก็มีอิทธิพลยิ่งกว่าผู้แทนภาคใดๆ และได้เงินทองที่อ้างว่าจะเอาบำรุงภาคอีสาณ ก็เป็นจำนวนมาก มาถึงรัฐบาลปัจจุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตระหนักในความสำคัญและความล่อแหลมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงกับเดินทางไปตรวจทุกปี บางปีก็หลายครั้ง ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาภาคอีสาณขึ้นเป็นพิเศษ โดยข้าพระพุทธเจ้าเป็นประธานเอง การสร้างถนนหนทางได้เร่งรัดมากขึ้น งานชลประทานได้ทำมากขึ้น ถึงกับมีโครงการสร้างเขื่อน สร้างแหล่งกำเนิดไฟฟ้าด้วยแรงน้ำ ซึ่งบางแห่งก็หาเงินกู้ได้แล้ว และกำลังดำเนินงานอยู่ภายใต้ความควบคุมเร่งรัดของข้าพระพุทธเจ้าเอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าแน่ใจยิ่งขึ้นว่า รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เสมอไป และความสนใจอันนี้จะต้องกระทำเป็น ๒ ทาง คือ (๑) นโยบายภายนอก จะต้องทำความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะมิให้ราชอาณาจักรลาวตกอยู่ในความครอบงำของคอมมิวนิสต์ (๒) นโยบายภายในจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดกวดขัน ทั้งในการปราบปรามและในการบำรุง โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม นอกจากจะต้องขมักเขม้นให้มีถนนหนทางมากขึ้นแล้ว เวลานี้กำลังสร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ขอนแก่น เพื่อดำเนินงานสงครามจิตวิทยาให้มีสมรรถภาพยิ่งขึ้น ส่วนชาวญวนอพยพที่เป็นเชื้อคอมมิวนิสต์อยู่ในดินแดนภาคนี้ ก็จะได้ขนอพยพออกไปให้มากที่สุดที่จะทำได้

ข้าพระพุทธเจ้าหวังด้วยเกล้าฯว่า ด้วยเดชะพระบารมีและด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีของข้าพระพุทธเจ้า ต่อประเทศชาติ ต่อพระศาสนา และในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท รัฐบาลนี้จะสามารถปราบปรามและแก้ไขสถาน การณ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดีขึ้นโดยลำดับ

โดยเฉพาะคนทั้งสองที่ข้าพระพุทธเจ้าสั่งประหารชีวิตไปแล้วนี้ เป็นคนที่สมควรจะได้รับโทษฐานหนักที่สุด ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะให้อภัยหรือถือว่าเป็นการเมือง เพราะการกระทำของคนทั้งสองนี้ มิใช่การกระทำของนักการเมือง แต่เป็นการกบฏทรยศขายชาติ ขายประเทศ เป็นกรณีที่บ่อนทำลายราชบัลลังก์อย่างร้ายแรงที่สุด ที่ไม่เคยมีใครทำมาแต่ก่อน เพราะนอกจากจะโฆษณาชวนให้คนเชื่อไปในทางที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีประโยชน์แล้ว ยังพยายามทำลายพระเกียรติคุณ โดยโฆษณาว่า พระมหากษัตริย์ทรง [……] ร้ายยิ่งกว่านั้น ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าไม่น่าจะกราบบังคมทูลพระกรุณา แต่เห็นด้วยเกล้ากระหม่อมว่า ควรจะกราบบังคมทูลด้วยความจงรักภักดี เพื่อให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า คนพวกนี้ได้จงจิตคิดร้ายต่อราชบัลลังก์เพียงไร พยานกว่า ๑๐ ปากให้การตรงกันว่า นายครอง จันดาวงศ์ ได้กล่าวในการอบรมพรรคพวกของตนหลายครั้งหลายหนว่า ทั้งใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ [……] คนที่ทุจริตประทุษร้ายราชบัลลังก์ถึงขนาดนี้ ไม่ควรจะให้มีชีวิตอยู่ในแผ่นดินไทยต่อไปเลย

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า จอมพล ส. ธนะรัชต์

นายกรัฐมนตรี

งานศพสฤษดิ์ ในหลวงทรงโปรดเกล้าให้จัดให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์



หากมีโอกาส ในอนาคต ผมอยากเขียนบทความสักชิ้นเกี่ยวกับงานศพทางการเมืองของไทยหลัง 2475 ในระหว่างนี้ ผมขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดงานศพให้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนธันวาคม 2506 สฤษดิ์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม เพียง 3 วันหลังวันพระราชสมภพของในหลวงครบ 3 รอบนักษัตร (36 พรรษา) และเพียง 1 วันหลังพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารคเนื่องในวันพระราชสมภพครบ 3 รอบนักษัตรนั้น (สำหรับผู้สนใจบรรยายประวัติศาสตร์อย่างมีดราม่า อาจกล่าวได้ว่า ความบังเอิญของโอกาสทั้งสองนี้มีลักษณะเชิง symbolic สฤษดิ์ผู้ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟู้สถาบันพระมหากษ้ตริย์ ล้มลงพร้อมๆกับการมีพระราชพิธีที่อาจถือเป็นจุดสุดยอดของกระบวนการฟื้นฟูนั้น) ทันทีที่สฤษดิ์ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า คณะรัฐมนตรีได้เรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษที่โรงพยาบาลแห่งนั้นในค่ำวันที่ 8 นั่นเอง (นี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ที่มี "คณะรัฐมนตรีสัญจร" ในโรงพยาบาล! สฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่เสียชีวิตขณะอยู่ในตำแหน่ง) เนื้อหาส่วนใหญ่ของการประชุมที่กินเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเป็นเรื่องการเตรียมจัดงานศพให้สฤษดิ์ ซึ่งในหลวงได้ทรงมีพระราชดำริพระราชทานมาให้ทางพลเอกถนอม กิตติขจร ผู้จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากสฤษดิ์ โดยสรุปคือ ทรงให้จัดให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันที่จริงกล่าวได้ว่า งานศพสฤษดิ์เป็นงานศพของสามัญชนที่ถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เข้าใจว่า ในแง่ความใหญ่โต งานศพนี้เป็นรองก็เพียงแต่งานพระราชพิธีศพของเจ้านายชั้นสูงบางพระองค์เท่านั้น (เช่น ในหลวงอานันท์, สมเด็จย่า เป็นต้น กรณีสมเด็จย่าในปี 2538 นั้น รัฐบาลให้ลดธงครึ่งเสา 3 วัน กรณีสฤษดิ์ ในหลวงทรงโปรดให้ลดธงครึ่งเสาถึง 7 วัน)

การจัดพิธีการศพ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี

พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดพิธีศพแก่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี อย่างมีเกียรติสูง โดยทรงพระราชดำริว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย จึงสมควรให้จัดพิธีการศพให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กล่าวคือ

พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกฏกุดั่นทองน้อย เทียบเท่าพระบรมวงศ์เธอ (ทรงกรม) และให้ตั้งศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร

ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนักด้วย ซึ่งทางสำนักพระราชวังจะได้ประกาศต่อไป สำหรับข้าราชการ ทางราชการจะได้ประกาศให้ไว้ทุกข์ เป็นเวลา ๒๑ วัน

ให้ลดธงครึ่งเสา ๗ วัน

โปรดเกล้าฯให้งดงานพิธีต่างๆ คือ งานพระราชอุทธยานสโมสรวันที่ ๙ ธันวาคม งานพิธีวันรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม งานกาชาด ซึ่งจะมีในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖ ด้วย

สำหรับการเสด็จเยี่ยมประเทศไทยของกษัตริย์มาเลเซียและการเยี่ยมของคณะทูตเวียดนามใต้ให้เลื่อนไป

คณะรัฐมนตรีรับทราบกระแสพระราชดำริ และได้ปรึกษาหารือในการจัดพิธีการศพ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐฒนตรี

มติ - ๑. รัฐบาลออกแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบ

๒. พิธีอาบน้ำศพ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๖ ที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร เริ่มตั้งแต่ ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศไว้ทุกข์ สำหรับคณะรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. เวลา ๑๖.๐๐ น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ อาจเสด็จพระราชดำเนินด้วย

๓. ตั้งคณะกรรมการจัดพิธีอาบศพรวม ๑๕ นาย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี เลขาธิการบริหารของนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงกลาโหม เสนาธิการทหาร รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองอธิบดีกรมตำรวจ เลขาธิการพระราชวัง พลตรีแสวง เสนาณรงค์ รองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ

๔. ให้หน่วยราชการ สถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์ทุกแห่ง งดการแสดง ซึ่งเป็นการบันเทิง ๓ วัน คือวันที่ ๘, ๙, และ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๖
ซึ่งได้สั่งการไปแล้ว

๕. ให้หยุดราชการวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๖ ๑ วัน และลดธงครึ่งเสา ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๐๖ นี้

๖. คณะรัฐมนตรีจะบำเพ็ญกุศลต่อจากงานพิธีหลวง
...................................

การบริหารราชการแผ่นดิน
พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐฒนตรีแจ้งว่า ในการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า ให้บริหารราชการแผ่นดินสืบแทนต่อไป ทรงพระราชปรารภว่า เห็นใจที่จะต้องรับภาระหนัก เพราะมีภารกิจที่จะต้องทำเป็นอันมาก จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐฒนตรีบริหารราชการสืบไป ตามที่ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้นำความกราบบังคมทูลในวันพรุ่งนี้

พลเอกถนอม กิตติขจร แถลงต่อคณะรัฐมนตรีด้วยว่า จะดำเนินนโยบายตามแนวทางที่ ฯพณฯจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้วางไว้

คณะรัฐฒนตรีรับทราบข้อความที่ พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงมาทุกประการ และรัฐมนตรีทุกท่านได้แถลงให้รองนายกรัฐมนตรีทราบว่า ในการที่จะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่นั้น ขอให้อย่าได้เป็นห่วงในตัวรัฐมตรีผู้ใด จะแต่งตั้งใครเป็นรัฐมนตรี ก็สุดแล้วแต่ความดำริที่เห็นเหมาะสม

กำเนิดการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา



อีกไม่กี่วันก็จะถึงโอกาสจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ปัจจุบันเรียกว่างาน “๕ ธันวา มหาราช” (ชื่อที่เกิดหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา) อีก ดังที่ผมได้ชี้ให้เห็นในบทความเรื่อง “ประวัติศาสตร์วันชาติไทย” (ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒, เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๗), ในสมัยสมบุรณาญาสิทธิราช งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นงานที่ทางราชการให้ความสำคัญมากที่สุด มีการจัดงานมหรสพ ประดับประดาประทีปโคมไฟ อย่างเอิกเกริกในพระนคร เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงให้งดจัดเป็นการชั่วคราว แต่เมื่อคณะราษฎรขึ้นมามีอำนาจ การงดชั่วคราวนี้จึงกลายเป็นเรื่องถาวรไป คือรัฐบาลใหม่ไม่ได้จัดให้มีขึ้นอีก แต่หันไปให้ความสำคัญกับการจัดงาน ๑๐ ธันวา “วันรัฐธรรมนูญ” ในฐานะงานที่สำคัญที่สุดของทางราชการในแต่ละปี โดยมีกิจกรรมต่างๆ (มหรสพ, ประดับประดาโคมไฟ, ฯลฯ) ในลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลก่อน ๒๔๗๕ เคยจัดให้มีขึ้นในวันเฉลิมพระชนมพรรษา และในช่วงสั้นๆในครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๔๘๐ ก็เปลี่ยนไปให้ความสำคัญและจัดงานในลักษณะนี้ กับ “วันชาติ ๒๔ มิถุนายน” แทน (แม้ว่ายังมีงาน ๑๐ ธันวา อยู่ในระดับที่เล็กลงมากว่างานวันชาติ) เมื่อเกิดสงคราม งานรื่นเริงเฉลิมฉลองกลางแจ้งทั้งหมดก็งดไปชั่วคราว แต่พอหลังสงคราม โดยเฉพาะหลัง ๒๔๙๐ รัฐบาลก็กลับไปให้ความสำคัญกับงาน ๑๐ ธันวา ในฐานะงานเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดของปีอีก งาน ๑๐ ธันวา ในช่วงนี้จะรวมเอางานกาชาดฤดูหนาว และการประกวดนางสาวไทยเข้าไว้ด้วย

หลังการยึดอำนาจเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ และ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ รัฐบาลพจน์ สารสินและ “คณะปฏิวัติ” ของสฤษดิ์ ได้งดการจัดงาน ๑๐ ธันวา ใน ๒ ปีนั้น โดยชี้แจงในลักษณะที่เข้าใจได้ว่า เป็นเพียงการงดชั่วคราว (ปี ๒๕๐๐ ความจริง มีการเตรียมการจะจัดแล้วโดยรัฐบาลจอมพล ป. แต่ปี ๒๕๐๑ เข้าใจว่าไม่มีการเตรียมการเลย) แต่ในความเป็นจริง กลับกลายเป็นการงดเด็ดขาดมาจนทุกวันนี้ เพราะในปีต่อมา (๒๕๐๒) รัฐบาลสฤษดิ์ ได้รื้อฟื้นการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นใหม่ในลักษณะเดียวกับที่เคยมีการจัดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช คือทำให้เป็นงานที่สำคัญที่สุดของทางราชการประจำปี และยุติการจัดงานในลักษณะเดียวกันให้กับวันที่ ๑๐ ธันวาอีก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงวันชาติ ๒๔ มิถุนา ซึ่งในปีถัดไป (๒๕๐๓) สฤษดิ์ประกาศให้เปลี่ยนเป็นวันที่ ๕ ธันวา และยกเลิกความเป็นวันสำคัญ-วันหยุดราชการของ ๒๔ มิถุนา โดยสิ้นเชิง

การจัดงานวันเฉลิม, เลิกจัดงาน ๑๐ ธันวา, เปลี่ยนวันชาติ, ยกเลิกความสำคัญของ ๒๔ มิถุนา เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการและกิจกรรมฟื้นฟูสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่สฤษดิ์และราชสำนักได้ร่วมกันดำเนินการอย่างรวมศูนย์ในช่วงระหว่างกลางปี ๒๕๐๒ ถึงต้นปี ๒๕๐๔ (กิจกรรมอื่นได้แก่ รื้อฟื้นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ, การเสด็จแห่เรือทอดกฐิน, การเสด็จเยือนยุโรปและอเมริกา) ซึ่งผมได้เสนอว่า “นี่คือช่วงปีเศษ...ที่เปลี่ยนสถานะของสถาบันกษัตริย์ในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย”

ข้างล่างนี้ ผมขอนำเสนอบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ๔ ครั้งที่เกี่ยวกับการรื้อฟื้นการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาขึ้นใหม่ คือ ครั้งที่ ๑ เมื่อสฤษดิ์เสนอให้จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาแบบสมัยก่อน ๒๔๗๕, ครั้งที่ ๒ เมื่อคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบด้วยกับแผนการจัดงาน, ครั้งที่ ๓ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกับการถวายตำแหน่งและยศทหาร เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และครั้งที่ ๔ หลังจัดงานแล้ว สฤษดิ์แสดงความเห็นประเมินความสำเร็จของงาน


สฤษดิ์เสนอให้จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
สฤษดิ์ เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔๔/๒๕๐๒ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๒ เป็นหัวข้อที่ ๓ ในวาระที่ ๒๒ ของการประชุม

๒๒. เรื่องที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
...............
๓) งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เสนอว่า ตามประเพณีเดิม ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เคยมีการตามประทีปโคมไฟ หรือประดับประดาคำถวายพระพรเป็นการถวายความจงรักภักดี นอกจากนั้น ยังมีการแสดงมหรสพให้ประชาชนได้ชมเป็นบางแห่งด้วย นับเป็นประเพณีที่ควรจะได้รักษาไว้ตามสมควร

มติ – เห็นชอบด้วยตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่อง รับไปพิจารณา ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป


คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับแผนการจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ประมาณ ๑ เดือนหลังจากนั้น กระทรวงมหาดไทยได้นำแผนการจัดงานซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปเตรียม มาเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา (การประชุมครั้งที่ ๔๘/๒๕๐๒ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒) ขอให้สังเกตการย้ำว่า “จะต้องตามประทีปโคมไฟด้วย” (หัวข้อ ๒ การตกแต่งสถานที่)

๕. เรื่อง การจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา
กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๖ ให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าของเรื่องรับไปพิจารณาจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา ร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น

กระทรวงมหาดไทย ได้เชิญผู้แทนกระทรวงทุกกระทรวง และผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ไปร่วมประชุมพิจารณาจัดดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว ที่ประชุมได้ตกลงในหลักการต่างๆสรุป ดังนี้ –

๑. กำหนดวัน – วันที่ ๕, ๖ และ ๗ ธันวาคม
๒. การตกแต่งสถานที่ – นอกจากการประดับธงทิว จะต้องตามประทีปโคมไฟด้วย ให้แต่ละหน่วย พิจารณาดำเนินการเป็นการภายใน ให้อยู่ในหลักการประหยัด
๓. การมหรสพ – แบ่งเป็นทางราชการจัด และประชาชนจัด ตามสมควรและเหมาะสม
๔. กำหนดเวลาตามประทีปโคมไฟ – เริ่มแต่พระอาทิตย์ตก ถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. เว้นสถานที่พิเศษ ไม่ควรเกินเวลา ๐๒.๐๐ น.
๕. ยานพาหนะประจำทาง – ยืดกำหนดเวลาไปถึง ๐๑.๐๐ น. ทั้ง ๓ วัน
๖. การโฆษณา – ให้กรมประชาสัมพันธ์
๗. ตลาดนัด – งดในวันเสาร์ที่ ๕ และอาทิตย์ที ๖ นี้
๘. ในส่วนภูมิภาค – ให้ถือปฏิบัติโดยอนุโลม

มติ – เห็นชอบด้วยตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และมอบให้หน่วยราชการต่างๆรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อไป

ถวายตำแหน่งและยศทหาร
อีก ๒ สัปดาห์ต่อมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ ๕๐/๒๕๐๒ วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของกองทัพบก ที่ให้ถวายตำแหน่งทางทหารแก่ในหลวง และขอพระราชยศและตำแหน่งทหารแก่พระราชินี

๗. เรื่อง กองทัพบกขอน้อมเกล้าฯถวายตำแหน่งและยศทหาร
กระทรวงกลาโหมเสนอตามรายงานของกองทัพบก ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

๑. ขอพระราชทานเปลี่ยนชื่อ กรมผสมที่ ๒๑ เป็น กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์

๒. ขอพระราชทานให้กรมทหารราบที่ ๒๑ เป็น หน่วยทหารรักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

๓. ขอพระราชทานยศ พันเอก และตำแหน่ง ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ และเป็นนายทหารพิเศษ ของกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

๔. ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายตำแหน่ง ผู้บังคับการพิเศษ หน่วยทหารรักษาพระองค์ทุกหน่วย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ –

(๑) กองนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ และขอพระราชทานให้ ทหารในหน่วย กองนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ มีสิทธิประดับ อักษรพระปรมาภิไธยย่อ ที่เครื่องแบบด้วย
(๒) กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็ก รักษาพระองค์
(๓) กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
(๔) กรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์
(๕) กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์
(๖) กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์

ทั้งนี้ ขอให้ดำเนินการให้เสร็จก่อนวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นวันสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

มติ – เห็นชอบด้วย

สฤษดิ์ประเมินความสำเร็จของการจัดงาน
หลังงานผ่านไปแล้ว ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๒ สฤษดิ์ได้กล่าวประเมินความสำเร็จของการจัดงาน ซึ่งผมคิดว่า มีเนื้อหาที่น่าสนใจมาก ผมยังได้คัดลอกอีกหัวข้อการประชุมหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกันมาให้ดูด้วย (ทั้งคู่อยู่ในวาระ “เรื่องที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี”) คือ เรื่องเกี่ยวกับการรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของรัฐมนตรีในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปีนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญและน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ เท่าที่ผมหาหลักฐานได้ นี่เป็นครั้งแรกหลัง ๒๔๗๕ ที่มีการบันทึกว่า การได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ถูกถือเป็นเรื่องสำคัญในหมู่คณะรัฐมนตรี ผมคิดว่า เราอาจนับได้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับ “เครื่องราชฯ” ในหมู่ข้าราชการระดับสูงของไทยที่เราเห็นกันทุกวันนี้

๑. เรื่อง ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

๑) รัฐมนตรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ก่อนที่จะเริ่มประชุมตามระเบียบวาระ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีต่อบรรดารัฐมนตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาปีนี้ ทั้งนี้ย่อมถือว่า ได้กระทำคุณงามความดี ได้ปฏิบัติงานมาด้วยความเอาใจใส่และเรียบร้อย ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ดูทรงพอพระราชหฤทัย และทรงชมเชยในการปฏิบัติงานของรัฐมนตรีทุกคน เป็นเครื่องหมายความดีความชอบที่ได้ปฏิบัติงาน รู้สึกว่า น้ำพระทัยพระองค์ท่านดี

ทางด้านส่วนตัวของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์นั้น มิใช่หมายความว่า เป็นเกียรติยศสำหรับตัว ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอย่างเดียว แต่เป็นเกียรติของรัฐบาลร่วมกันด้วย เพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาล และรู้สึกมีความรับผิดชอบในการบริหารของรัฐบาล หากมิได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีแล้ว ก็คงไม่สามารถที่จะให้รัฐบาลมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมไปในทางดีได้ จึงขอขอบคุณรัฐมนตรีทุกท่านอย่างจริงใจในโอกาสนี้ด้วย

เสด็จในกรมฯรองนายกรัฐมนตรี [พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์] ได้ทรงกล่าวขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในนามของรัฐมนตรี สรุปว่า ทรงชื่นชมยืนดีในการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์ และรัฐมนตรีทุกท่านก็ได้ตระหนักในผลงานที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติและได้พยายามเอาใจใส่ทนุบำรุงบ้านเมือง เพื่อให้ประชาราษฎร์สุขสมบูรณ์ บรรดารัฐมนตรีทุกท่านจึงขออำนวยพรให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีความสุข ความเจริญ สมบูรณ์ด้วยพลานามัยยิ่งๆขึ้นไป

๒) งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ทราบว่า ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งนี้ เท่าที่ได้สดับตรับฟังมา ก็รู้สึกว่าเป็นที่พอใจ ประชาชนชื่นชมยินดี จะเห็นได้จากประชาชนไปเที่ยวเตร่เป็นจำนวนมากมาย หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา ๒๗ ปีแล้ว ไม่เคยมีการเฉลิมฉลองและประดับประดาไฟ เพิ่งจะมีในปีนี้เป็นครั้งแรก เข้าใจว่า คนที่เกิดมาซึ่งในขณะนี้มีอายุประมาณ ๓๐ ปีนั้น คงจะไม่ได้เห็น ปัญหาที่ว่าไฟฟ้าไม่เพียงพอนั้น ก็จะเห็นผลประจักษ์ในครั้งนี้แล้วว่า มีพอได้ยินก็ดีใจ ขอเรียนว่า อะไรอะไรนั้นมาอยู่ที่รัฐบาล เขาบ่นเขาด่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดีหรือไม่ดีก็มาอยู่ที่รัฐบาล หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คราวนี้รู้สึกว่า ประชาชนชื่นชมยินดีมาก สำหรับในปีต่อไป ก็เข้าใจว่า คงจะดีขึ้นกว่าปีนี้อีก ทางด้านประชาชนก็คงจะมีเวลาตระเตรียมงานประดับประดาไว้ล่วงหน้า

ส่วนงานปีใหม่ที่จะถึงนี้ ก็ขอมอบให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาต่อไป แต่การจัดงานนั้น ควรเป็นของเทศบาล และทางด้านกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ

มติ – ทราบ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับทราบไป

ความหมายและความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”



(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๙)


ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นี่เป็นข้อความที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี และได้เห็นหรือได้ยินอยู่ทุกวัน ในแง่หนึ่ง ไม่อาจถือว่ามีความหมายที่แปลกพิเศษอะไร: ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย เรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ข้อความดังกล่าวมีความน่าสนใจที่ชวนให้คิดและศึกษาต่อ ประเทศตะวันตกหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สวีเดน เบลเยี่ยม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์ (หรือพระราชินี) เป็นประมุขของรัฐ แต่เราไม่เรียกหรือได้ยินใครเรียกประเทศเหล่านั้นว่าปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แม้แต่รัฐบาลและประชาชนของประเทศเหล่านั้นเอง แสดงว่าข้อความที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น น่าจะให้ความหมายหรือสะท้อนความจริงบางอย่างที่นอกเหนือไปกว่าความหมายธรรมดาที่เข้าใจกัน

ก่อนอื่น ขอให้เรามาพิจารณาให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในแง่ของไวยากรณ์ภาษา

“ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นประโยคเดียว ส่วนท้ายของประโยค “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นเพียงส่วนขยายของคำว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตย” พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เราไม่ได้พูดว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย (และ) มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเป็นสองประโยคที่เชื่อมด้วยสันธาน “และ” ที่ละเว้นได้ ดังจะเห็นต่อไปข้างหน้าว่า สมัยหนึ่งในรัฐธรรมนูญ เคยเขียนในลักษณะสองประโยคเช่นนี้จริงๆ การที่ปัจจุบันหันมาเขียนในลักษณะประโยคเดียว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่า ข้อความที่เราคุ้นเคยนี้มีความหมายมากกว่าที่คิดกัน)

เราจะเห็นความสำคัญของความแตกต่างในรูปประโยคนี้ ถ้าเราลองนึกถึงกรณีประเทศตะวันตกที่กล่าวถึงข้างต้น เราสามารถพูดได้ว่า “อังกฤษ สวีเดน ฯลฯ มีการปกครองระบอบประชา?ธิป?ไตย (และ) อังกฤษ สวีเดน ฯลฯ มีพระมหากษัตริย์ (พระราชินี) ทรงเป็นประมุข” แต่ “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีลักษณะเหมือนวิสามัญนาม คือเป็นคำเฉพาะที่สื่อความหมายถึงบางอย่างที่เป็นหนึ่งเดียว

ดังที่ทราบกันดีว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกก่อน แล้วเราลอกเลียนเอามาใช้ ผมขอเสนอว่า ความหมายพิเศษอย่างแรกของข้อความ “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” คือการที่ระบอบการปกครองของเราเป็นระบอบที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นตะวันตกกับที่ไม่ใช่ตะวันตก และที่สำคัญ เป็นการผสมผสานในลักษณะไม่ใช่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว (เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น คงออกมาในรูปที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” เฉยๆแบบของตะวันตก) แต่มีลักษณะ “แย้ง” (antithetical) หรือเป็นเงื่อนไข (qualification) และมีความเป็นไปได้ของการมี “ความตึงเครียด” (tension) ระหว่างสองส่วน

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่ใช่ ระบอบประชาธิปไตย (เฉยๆ) ที่ประมุขแห่งรัฐบังเอิญเป็นกษัตริย์ แต่เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไป เป็นคำที่สะท้อนให้เห็นการดำรงอยู่คู่กันระหว่างสองวัฒนธรรมการเมืองในลักษณะเดียวกับ Guided Democracy (ประชาธิปไตยแบบมีการนำทาง) ของอินโดนีเซียในอดีต หรือ Socialism with Chinese Characteristics (สังคมนิยมที่มีลักษณะแบบจีน) ของจีนในปัจจุบัน

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ก็คือ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่เคยมีความพยายามอย่างเป็นทางการที่จะผลักดันให้มีขึ้นในสมัยหลังรัฐประหาร ๒๕๐๑

ถ้าเราพิจารณาวิวัฒนาการของการปรากฏตัวขึ้นของคำนี้ในรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่างๆที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เป็นคำที่มีความหมายพิเศษ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่แน่นอน และสะท้อนถึงวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นเอง

ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ร่าง ไม่มีคำว่า “ประชาธิปไตย” ส่วนหนึ่งเพราะขณะนั้น ปรีดีใช้คำนี้เป็นคำแปลคำว่า republic (เช่นในประกาศคณะราษฎร “ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา” (และดู คำอธิบายกฎหมายปกครอง ของปรีดี พ.ศ. ๒๔๗๔) ส่วนระบอบใหม่หรือสิ่งที่ผู้ก่อการต้องการสถาปนาขึ้นนั้น ถูกเรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ภายใต้ “ธรรมนูญ” นี้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” (มาตรา ๑) ส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งในรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “กษัตริย์” แม้จะเป็น “ประมุขสูงสุดของประเทศ” และกฎหมายต่างๆ “จะต้องกระทำในนามของกษัตริย์” (มาตรา ๓) ก็เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของ “บุคคลและคณะบุคคล...ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร” เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการราษฎร และศาล เท่านั้น

รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงที่ให้อำนาจของพระมหากษัตริย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่มีแม้แต่คำว่าคณะราษฎรหรือไม่กล่าวถึงการยึดอำนาจของผู้ก่อการเมื่อ ๒๔ มิถุนายนเลย “การปกครองใหม่” กลายเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงเห็น “สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาศให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบ” ยังไม่มีคำเฉพาะที่ใช้เรียก “การปกครองใหม่” ที่ว่านี้ แต่ประธานคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า มาตรา ๒ ที่เขียนว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” “เป็นข้อความที่แสดงลักษณะการปกครองว่าเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับที่สาม ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ซึ่งร่างขึ้นโดยความริเริ่มและภายใต้ความเป็นใหญ่ทางการเมืองของปรีดี มีการใช้คำว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตย” ในความหมายที่ใกล้กับปัจจุบันเป็นครั้งแรกในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ และเรียกระบอบการปกครองหลัง ๒๔๗๕ ว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลัก” แต่นอกจากสองครั้งนี้ในคำปรารภแล้ว ไม่มีคำนี้ปรากฏในตัวบทของรัฐธรรมนูญเลย (ข้อที่น่าสังเกตและน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญหรือเอกสารทางราชการในสมัยแรกๆ ไม่รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่าประเทศปกครองด้วยระบอบอะไร อาจกล่าวได้ว่า การย้ำในเรื่องนี้มาพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”)

รัฐธรรมนูญฉบับที่สี่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ หรือที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” เพราะผู้ร่างคือหลวงกาจสงคราม ร่างเสร็จแล้วเอาไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มน้ำในบ้าน เพื่อปกปิดทางการเพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนรัฐประหาร ที่น่าสนใจก็คือ นี่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย คือเกิดจากการยึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีอยู่ ผู้ร่างจึงมีการพยายามอ้างเหตุผลความชอบธรรมไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญเอง แต่ที่ต่างกับในสมัยหลังบางกรณีที่สำคัญคือ ในบรรดาเหตุผลที่นำมาอ้างนั้น ไม่มีการกล่าวว่ารัฐบาลที่มีอยู่ก่อนรัฐประหารเป็นภัยต่อระบอบการปกครองของประเทศ อันที่จริง ไม่มีการกล่าวถึงด้วยว่าระบอบการปกครองของประเทศคืออะไร

รัฐธรรมนูญฉบับที่ห้า ๒๓ มีนาคม ๒๔๙๒ ซึ่งร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพลังอนุรักษ์นิยม ซึ่งขณะนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนการเมืองที่สำคัญ มีลักษณะบางประการที่เป็นหลักบอกระยะทางของวิวัฒนาการที่นำไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งจำเป็นต้องขออนุญาตเก็บไว้อภิปรายต่อในคราวหน้า





ความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในฐานะอุดมการณ์ราชการ


(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๙)


ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย (และ) มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หรือ

ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ในคอลัมภ์นี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้เสนอว่า ความแตกต่างระหว่างข้อความทั้งสอง ก็คือความแตกต่างระหว่างระบอบการเมืองของประเทศไทยกับประเทศตะวันตกอย่าง อังกฤษ, สวีเดน, ออสเตรเลีย และเบลเยี่ยม ซึ่งล้วนมีพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีเป็นประมุขเหมือนกัน

ประเทศตะวันตกเหล่านั้นมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์ (พระราชินี) ทรงเป็นประมุข

แต่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นี่ไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประมุขแห่งรัฐบังเอิญเป็นพระมหากษัตริย์ แต่เป็นระบอบการปกครองอีกแบบหนึ่งต่างหากออกไป

ที่น่าสนใจคือ ขณะที่คนไทยทั่วไปกระทั่งนักวิชาการเข้าใจว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นี้เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ในความเป็นจริง ทั้งในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ราชการ (official ideology) และในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองจริงๆ (actual political system) “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีความเป็นมาในระยะประมาณ ๒-๓ ทศวรรษหลังนี้เอง

ในฐานะอุดมการณ์ราชการ จะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญสองฉบับแรก (๒๗ มิถุนายน และ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) และในเอกสารราชการอื่นๆในปีแรกๆหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การมี “ธรรมนูญปกครองแผ่นดิน” หรือ “ประเทศมีรัฐธรรมนูญปกครอง” เป็นคำที่ใช้สื่อความหมายแทนระบอบใหม่ จนกระทั่งถึงสมัยหลังสงครามโลก เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ จึงมีการใช้คำว่า “ระบอบประชาธิปไตย” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลัก” อย่างเป็นทางการ

(ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนจากคำว่า “ระบอบรัฐธรรมนูญ” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลัก” เกิดขึ้นในช่วงปลายสงครามนั้นเอง ในคำกล่าวเปิดประชุมสภาปี ๒๔๘๖ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ยังทรงใช้คำแรก แต่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลปีต่อมา นายควง อภัยวงศ์ ได้ใช้คำหลัง อย่างไรก็ตาม ในคำกล่าวปิดสมัยประชุมสภาปีเดียวกัน นายควงก็ยังพูดว่า “การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ”)

หลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ พลังอนุรักษ์นิยมซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนได้เข้ากุมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เป็นครั้งแรก (ขอหมายเหตุในที่นี้ว่า ความคิดเรื่อง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การปฏิรูปการเมือง” ในปัจจุบัน มีแหล่งที่มาหลายแหล่ง เช่นความคิดที่จะกีดกันนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งออกจากฝ่ายบริหาร สามารถสืบต้นตอกลับไปที่คนอย่างประเสริฐ ทรัพย์สุนทร และความคิด “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ดังจะได้เห็นต่อไป แต่แหล่งที่มาแหล่งหนึ่งของความคิดทำนองนี้ก็คือ อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบเดียวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ หรือ “สภาสนามม้า” ๒๕๑๗ นั่นเอง น่าเสียดายที่ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เสรีนิยม” จำนวนมาก – รวมทั้ง นสพ.ฉบับนี้ – ให้การสนับสนุน “การปฏิรูป” ดังกล่าว โดยไม่ได้คำนึงถึงแหล่งที่มาทางความคิดของสิ่งนี้อย่างรอบคอบ)

รัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ที่ออกมา กำหนดเป็นครั้งแรกในมาตรา ๒ ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะยังไม่มีความหมายในแง่ที่เป็นชื่อเฉพาะของระบอบการปกครอง แบบเดียวกับ “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบันก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ “ลบ” การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ออกไปอย่างถาวร นับจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปจนถึงปัจจุบัน การ “สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย” ถูกถือว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ และเป็นเรื่องของรัชกาลที่ ๗ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน” เท่านั้น

เมื่อคณะรัฐประหรของจอมพลผิน ชุณหะวัณ กับพวกนำรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มาใช้ใหม่ในปี ๒๔๙๕ ก็เลยทำให้ข้อความในมาตรา ๒ ของรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ หายไปด้วย

รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (๒๘ มกราคม ๒๕๐๒) ยากจะเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ เพราะมีข้อความเพียง ๒๐ มาตรา รวมทั้ง มาตรา ๑๗ อันอื้อฉาวที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ก็คือ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ไม่อาจถือได้ว่าเหมือนกับของตะวันตก ก็ยังไม่มีใครก่อนหน้านั้นรู้สึกว่าจะต้องทำข้อสรุปของความไม่เหมือนกันนั้นขึ้นมาอย่างเป็นระบบเป็นหลักการ (conceptualization / theorization) และสร้างความชอบธรรมให้กับความไม่เหมือนกันนั้นอย่างเป็นทางการ แต่ใน “สมัยปฏิวัติ” ของสฤษดิ์นี้เอง ที่มีความพยายามยืนยันว่าประเทศไทยมีลักษณะพิเศษของตัวเอง จึงต้องการระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะให้เหมาะสมกันเป็น “แบบไทยๆ” นี่คือจุดเริ่มต้นอันแท้จริงของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในแง่อุดมการณ์ราชการ ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการ “ทำข้อสรุป” ดังกล่าว คือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ด้วยความร่วมมือในระยะแรกของหลวงวิจิตรวาทการและเจ้าพระยาศรีวิสารวาจา

รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑ ที่ชี้นำโดยความคิด “ประชาธิปไตยแบบไทย” ของประเสริฐ ประกาศว่า

“ตามวิวัฒนาการ ปรากฏว่า ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของปวงชนชาวไทยเป็นการถาวรมั่นคงตลอดมา ข้อที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่สัมพันธภาพระหว่างรัฐสภากับคณะรัฐมนตรี และรูปของรัฐสภาเป็นสำคัญ ถ้าอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอยู่ในฐานะที่คานกันและสมดุลกันตามควรแล้ว บ้านเมืองก็จะอยู่ในเสถียรภาพตามที่ต้องการ”

(ขอให้สังเกตความเหมือนกันอย่างยิ่งยวด ระหว่างข้อความนี้กับข้อเสนอ “ปฏิรูปการเมือง” ของนักวิชาการบางคนในปัจจุบัน)

แม้รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑ จะยังใช้ข้อความว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แต่ความหมายที่ว่า นี่คือระบอบการปกครองเฉพาะ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยธรรมดาๆ เป็นที่ชัดเจน

หลังจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๑๑ มีรัฐธรรมนูญอีก ๔ ฉบับก่อนที่จะถึงรัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นฉบับที่มีความถาวรรองลงมาจากฉบับ ๒๔๗๕ ในจำนวน ๔ ฉบับนี้ ฉบับปี ๒๕๑๕ และ ๒๕๒๐ มีลักษณะชั่วคราวหลังการรัฐประหาร ส่วนรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นผลจากกรณี ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ถูกเขียนขึ้นโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ เป็นต้นแบบ อาจกล่าวได้ว่า ความปั่นป่วนในทางการเมืองของทศวรรษ ๒๕๑๐ พลอยทำให้อุดมการณ์ราชการอยู่ในสภาพปั่นป่วนสับสนและเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา (in flux)

หลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ ขณะที่รัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหารอื่นๆทุกฉบับมีลักษณะของความ “ชั่วคราว” ที่แสดงออกในแง่ละเว้นไม่กล่าวถึงระบอบการปกครองของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับ “๖ ตุลา” นี้ กลับประกาศยืนยันเรื่องระบอบการปกครองด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นที่สุด “โดยที่ประชาชนทั้งมวลได้แสดงอย่างแจ่มแจ้งประจักษ์และเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเป็นระบอบการปกครองที่ดีและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ในอันที่จะยังให้เกิดความมั่นคงของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยทั่วกัน”

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๑ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๙ เป็นสองฉบับแรกที่ยืนยันความชอบธรรมของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อาจกล่าวได้ว่า หน้าที่ (function) ของการยืนยันต่างกัน ฉบับ ๒๕๑๑ เพื่อต่อต้านการเมืองและพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวขึ้น ฉบับ ๒๕๑๙ เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้าย เมื่อมองประกอบกัน ก็ทำให้เราเห็นหน้าที่ในเชิงต่อต้าน (negative function) ของอุดมการณ์นี้ทั้งสองประการ (อุดมการณ์ทุกชนิดมีทั้งด้านที่สนับสนุนอะไรบางอย่างและต่อต้านอะไรบางอย่าง)

เมื่อมาถึงจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ราชการ ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในประเทศไทย เห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญที่ค่อนข้างถาวรที่ตามมาอีก ๒ ฉบับคือ ฉบับ ๒๕๒๑ และ ๒๕๓๔ มีการกล่าวยืนยันในคำปรารภถึง “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ถึงฉบับละ ๔ ครั้ง

ตลอดบทความนี้ ผมได้พยายามจำกัดการอภิปรายให้อยู่ในแง่ของอุดมการณ์ราชการ (official ideology) แต่อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นภาพสะท้อนของระบอบการเมืองที่เป็นจริง (actual political system) บางอย่าง ถ้าเช่นนั้น อะไรคือ “ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในแง่ระบอบการเมืองจริงๆ?

นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่โตเกินกว่าจะอภิปรายกันในที่นี้ได้