Saturday, November 03, 2007

ปริศนากรณีสวรรคต ตอนที่ 2 : ในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เอง หรือ ถูกผู้อื่นยิง

(อ่าน ตอนที่ 1 : ฉาก ที่นี่)



ทำไม เมื่อเกิดการสวรรคตขึ้น รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในขณะนั้น (และตัวปรีดีเองหลังจากนั้น) จึงดูเหมือนว่าจะ (ถ้าพูดตามภาษาสมัยนี้) “แพ้สงครามพีอาร์” คือ ยิ่งพยายามชี้แจงเท่าไร ก็ดูเหมือนจะยิ่ง “เข้าตัว” ยิ่ง “ชวนให้ถูกสงสัย” มากขึ้นเท่านั้น? แน่นอน ส่วนหนี่ง เพราะการรณรงค์แบบใต้ดิน (หรือใต้เข็มขัด) ของพวกนิยมเจ้า ที่ไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือศีลธรรมใดๆ (ตัวอย่าง : ทันทีมีการค้นพบแผลที่กระสุนทะลุออกด้านท้ายทอย พวกนิยมเจ้าก็ส่งคนไปปล่อยข่าวตามสถานทูตฝรั่งว่า ในหลวงอานันท์ถูกลอบปลงพระชนม์แน่ๆ เพราะถูกยิงจากด้านหลังทางท้ายทอย!) แต่ผมขอเสนอว่า สาเหตุจริงๆของการ “แพ้สงครามพีอาร์” ของปรีดี มีมากกว่านั้น ที่สำคัญคือ เป็นสาเหตุแบบ “ภายใน” ของรูปคดีเอง (internal to the case) กล่าวคือ โดยลักษณะบางอย่างของการสิ้นพระชนม์ ทำให้ปรีดีแทบจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยืนยันในทฤษฎีที่ดูไม่สมเหตุสมผลที่สุด (“อุบัติเหตุ” – หมายถึง ทรงทำปืนลั่นใส่พระองค์เอง) มิเช่นนั้น ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ปรีดีต้องทำการต่อสู้เพื่อหาความจริงของคดีนี้อย่างถึงที่สุด พิจารณาความเป็นไปได้ทุกความเป็นไปได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อสรุปที่จะตามมาใดๆ ซึ่งหมายถึงว่าเขาและกลุ่มของเขาจะต้องมีความเข้มแข็งทางสังคม (นี่ไมใชเรื่องเชิงอัตตวิสัยส่วนตัว, อย่างน้อยก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญ) ซึ่งขณะนั้น เขาและกลุ่มของเขาไม่มี (หากกรณีสวรรคตเกิดขึ้นขณะที่คณะราษฎรมีความเข้มแข็งที่สุด เช่น ในต้นทศวรรษ 2480 เหตุการณ์ที่ตามมา อาจจะเป็นคนละอย่าง) ที่เพิ่งกล่าวมานี้ จะเข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเราได้พิจารณาปัญหาว่า ในหลวงอานันท์สวรรคตอย่างไรในตอนนี้และตอนต่อไป

ก่อนอื่น ขอให้เราเริ่มต้นที่ความเป็นไปได้ต่างๆว่า ในหลวงอานันท์ทรงสวรรคตอย่างไร กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ผู้ศึกษากรณีนี้ทุกคนยอมรับตรงกันว่า มีความเป็นไปได้ 4 ทาง – หรือ 2 ทางใหญ่ ที่แยกออกเป็น 2 ทางย่อย – ที่ทำให้เกิดการสวรรคต คือ

1. ทรงยิงพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ
2. ทรงยิงพระองค์เอง โดยตั้งใจ
3. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ
4. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยตั้งใจ

ถ้าเขียนอีกแบบคือ แบ่งเป็น 2 ทางใหญ่ : ทรงยิงพระองค์เอง หรือ ทรงถูกผู้อื่นยิง, แล้วแต่ละทางใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ทางย่อย : โดยไม่ตั้งใจ หรือ โดยตั้งใจ

ผมจงใจที่จะเขียนความเป็นไปได้ 4 ทางของกรณีสวรรคต ด้วยภาษา “รุ่มร่าม” เช่นนี้ แทนที่จะใช้คำแบบ “กระทัดรัด” ที่มีการใช้ในเอกสารราชการสมัยนั้น และในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั่วไป คือ “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์พระองค์เอง” และ “ถูกลอบปลงพระชนม์” เพราะการใช้คำแบบหลังนี้ เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ปรีดีต้องเผชิญที่ผมกล่าวถึงในตอนต้น (และจะอธิบายต่อไป) อย่างไรก็ตาม เราอาจจะใส่คำ “กระทัดรัด” เหล่านี้ กำกับไว้ในรายการความเป็นไปได้ 4 ทางของกรณีสวรรคตข้างบนได้ ดังนี้

1. ทรงยิงพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”)
2. ทรงยิงพระองค์เอง โดยตั้งใจ (“ปลงพระชนม์พระองค์เอง”)
3. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”)
4. ทรงถูกผู้อื่นยิง โดยตั้งใจ (“ลอบปลงพระชนม์”)



ลักษณะทางกายภายของการยิง (Physical conditions of the shooting)
และนัยยะต่อความเป็นไปได้ของสาเหตุการสวรรคต


ผมขอเสนอว่า สิ่งที่เป็นหัวใจของกรณีนี้ และนำไปสู่ปัญหาที่มีลักษณะเป็นปริศนาแก้ไม่ตก คือข้อเท็จจริงกลุ่มหนึ่งที่แทบไม่มีใครโต้แย้งซึ่งประกอบกันขึ้นเป็น สิ่งที่ผมขอเรียกว่า “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” (Physical conditions of the shooting) ผมหมายถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ :

ก. ตำแหน่งของบาดแผลกระสุนเข้า อยู่ที่บริเวณหน้าผากเหนือคิ้วซ้ายเล็กน้อย
ข. ลักษณะบาดแผลแสดงว่าปืนต้องกดติดหรือเกือบติดกับหน้าผากขณะกระสุนลั่น ถ้าไม่กดติดก็ห่างไม่เกิน 2 นิ้ว
ค. วิถีของกระสุน เฉียงลงล่าง และเอียงจากซ้ายไปขวาเล็กน้อย ทะลุออกด้านหลังที่ท้ายทอย
ง. ลักษณะพระบรมศพ ที่พระกรอยู่ข้างพระวรกายเรียบร้อย (ปัญหาความเป็นไปได้ของอาการเกร็งค้างของแขนและมืออันเกิดจากสมองตายเฉียบพลันที่เรียกว่า “คาดาเวอริค สปัสซั่ม” Cadaveric Spasm)

ข้อ ง เป็นประเด็นที่แยกออกมา เพื่อพิจารณาภายหลังได้ เพราะยังมีลักษณะถกเถียงกันอยู่ (controversial)

แต่จากข้อเท็จจริง ก-ข-ค ที่ไม่มีใครปฏิสธ ก็นำไปสู่ข้อสรุปเชิงอนุมานที่ยากจะปฏิเสธและมีความสำคัญมาก คือ หากในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เอง ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะต้องจับปืนแบบสลับกับที่จับตามปกติ คือคงต้องกุมปืนด้วย 2 มือพร้อมกัน โกร่งไกและลำกล้องปืนหันมาทางด้านอุ้งมือคือหันเข้าหาตัว หลังปืนหันออกทางตรงข้าม และต้องเหนี่ยวไกด้วยนิ้วโป้ง (โดยเฉพาะนิ้วโป้งซ้าย) ไม่ใช่นิ้วชี้ ถ้าอยู่ในท่านอน แขนทั้ง 2 ข้าง จะต้องยกขึ้นเหนือตัว งอศอก มือทั้งสองที่กุมปืนต้องอยู่เหนือหัวเยื้องขึ้นไปทางด้านผมและเอียงไปเบื้องซ้ายเล็กน้อย (ทำให้เกิดการเฉียงของวิถีกระสุนจากบนลงล่าง และซ้ายไปขวา)

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ชวนให้เชื่ออย่างยิ่งว่า ในหลวงอานันท์ไม่น่าจะยิงพระองค์เอง เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ ที่ใครจะยิงตัวตาย (ตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจ) ด้วยท่าทางและตำแหน่งถือปืนเช่นนั้น

ผมใช้คำว่า “แทบเป็นไปไม่ได้” ความจริง มีรายละเอียดต่างกันอยู่ระหว่าง ความเป็นไปได้ของการยิงตัวตาย โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”) กับ โดยตั้งใจ (“ฆ่าตัวตาย”) ในท่าทางและตำแหน่งถือปืนเช่นนั้น กล่าวคือ

การยิงตัวเองในท่าถือปืนเช่นนั้น โดยไม่ตั้งใจ กล่าวได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่มีใครเอาปืนไปถืออยู่ในท่าดังกล่าว เอาปากกระบอกปืนไปจ่อชิดหน้าผากบริเวณเหนือคิ้วซ้าย แล้วทำปืนลั่นโดยไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะปืนชนิดที่ทำให้สวรรคตมีห้ามไกถึง 2 ชั้น คือ ห้ามไกข้างที่ตัวปืนที่ต้องดันขึ้นเพื่อปลด และห้ามไกหลังที่ด้ามปืน ซึ่งเวลาจะยิงต้องกำมือกระชับด้ามปืนไว้แน่นเพื่อให้มือที่กำนั้นกดห้ามไกหลังไปพร้อมกัน จึงลั่นไกปล่อยกระสุนได้

กล่าวได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่ ในหลวงอานันท์จะ “บังเอิญ” เอา 2 มือจับปืนจ่อติดเข้าหาหน้าผากตัวเองเหนือคิ้วซ้าย เอียงมือที่จับปืนขึ้นไปทางด้านผม (ซึ่งจะทำให้วิถีกระสุนเฉียงล่าง) โดยที่ทรง “บังเอิญ” ปลดห้ามไกข้างไว้และ “บังเอิญ” จับด้ามปืนแน่นพอที่จะกดห้ามไกหลัง (ด้วยนิ้วชี้) แล้ว “บังเอิญ” เอานิ้วโป้งสอดเข้าไปในโกร่งไกปืน ลั่นกระสุนใส่ตัวเอง !

สรุปแล้ว ความเป็นไปได้ที่ 1 – ทรงยิงพระองค์เอง โดยไม่ตั้งใจ (“อุบัติเหตุ”) – เป็นไปไม่ได้เลย

เท่าที่ผมทราบ ผู้ที่พยายามเสนอภาพในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ อย่างจริงจัง ได้แก่ พระองค์เจ้าศุภสวัสดิ์ พี่ชายต่างมารดาของพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่ทรงบรรยายสมมุติฉาก (scenario) ที่ในหลวงอานันท์อาจจะยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจได้อย่างไร แต่ฉากสมมุติของพระองค์วางอยู่บนการสมมุติอนุกรม (series) ของเหตุการณ์ ที่รวมๆแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะบังเอิญมาเกิดขึ้นอย่างเป็นอนุกรมเช่นนั้น คือ ในหลวงอานันท์ต้องบังเอิญลืมปลดไกข้างปืนทิ้งไว้ก่อนไปเข้าห้องน้ำเพราะน้ำมันละหุ่ง ต้องบังเอิญนึกขึ้นได้ขณะล้มตัวลงนอนไปแล้วหลังออกจากห้องน้ำ ต้องบังเอิญพยายามหยิบปืนจากข้างเตียงด้วยมือซ้าย เพื่อส่งข้ามตัวไปให้มือขวา และบังเอิญต้องส่งในตำแหน่งเหนือหัวต้วเอง ต้องบังเอิญทำปืนหลุดจากมือ แล้วทรงพยายามคว้าไว้ (ด้วยมือซ้ายมือเดียว ซึ่งไม่น่าจะมีแรงพอกดห้ามไกหลัง) แล้วนิ้วโป้งซ้ายต้องบังเอิญหลุดเข้าไปในโกร่งไก กดไกลั่นกระสุนใส่ตัวเอง ... อันที่จริง ฉากสมมุติของพระองค์เจ้าศุภสวัสดิ์ เป็นการพยายามสร้างคำอธิบายที่ “ดูดี” ต่อราชสำนักมากกว่าจะอธิบายว่าเหตุการณ์จริงๆเกิดขึ้นอย่างไร (ดูบทความของผมเรื่อง “คำอธิบายกรณีสวรรคตของ ท่านชิ้น”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548 และขอให้สังเกตด้วยว่า กรณีคาดาเวอริค สปัสซั่ม ที่กล่าวถึงข้างล่าง สามารถใช้สนับสนุนความไม่น่าจะเป็นของกรณียิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุเช่นกัน)

ส่วนการยิงตัวเองโดยตั้งใจ (คือ “ปลงพระชนม์พระองค์เอง” หรือ “ฆ่าตัวตาย”) จาก “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ข้างต้น ถ้าพูด “ในทางทฤษฎี” ก็อาจจะกล่าวว่า มีความเป็นไปได้อยู่บ้าง เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า คนที่กำลังจะฆ่าตัวตายอยู่ในอารมณ์ไม่ปกติอย่างไร จึง “เป็นไปได้” ที่ผู้นั้นจะถือปืนในท่าพิศดารเช่นนั้น เพื่อยิงตัวเอง

แต่โอกาสก็ยังน้อยมากอยู่นั่นเอง ยิ่งถ้าเราเอาข้อมูลอื่นๆมาประกอบการพิจารณา : เริ่มจากข้อ ง ของ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ข้างต้น ที่ว่าพระบรมศพอยู่ในท่านอนตรง แขนทั้ง 2 ข้างวางทอดเหยียดอยู่ข้างลำตัวปกติ ซึ่งถ้าเป็นการยิงพระองค์เอง แขนและมือซึ่งต้องใช้ในการยกปืนขึ้นยิง น่าจะยังอยู่ในท่างอบ้าง อาจจะถึงขั้นเกิดอาการที่เรียกว่า “คาดาเวอริค สปัสซั่ม” กล่าวคือ เนื่องจากกระสุนปืนทำลายเซลล์สมองตายทันที ทำให้ไม่มีสัญญาณสั่งจากสมองให้แม้แต่จะคลายนิ้วมือที่กำปืนไว้ อย่าว่าแต่ปล่อยแขนทั้ง 2 ข้างลงข้างลำตัว ดังนั้น สภาพศพน่าจึงน่าจะอยู่ในลักษณะ มือและแขนหงิกงอ ค้างอยู่เหนือลำตัวบ้าง ไม่ใช่ทั้งมือและแขนวางทอดอยู่ข้างตัวอย่างเรียบร้อยเช่นนั้น (ดู สรรใจ แสงวิเชียร และ วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๕๓-๑๕๙)

ข้อมูลด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” แต่อาจนำมาพิจารณาประกอบ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ที่ในหลวงอานันท์อาจจะทรงฆ่าตัวตาย เช่น ข่าวลือเรื่องที่ทรงขัดแย้งกับพระราชชนนี (ในปัญหาเพื่อนหญิงของพระองค์ หรือ ปัญหาพระราชชนนีเอง) หรือข่าวลือเรื่องพระอุปนิสัยบางอย่างที่อาจจะทำให้โน้มเอียงไปในทางทำร้ายตัวเอง (ที่ลือกันว่าถ่ายทอดมาจากพระบิดา) ฯลฯ เท่าที่ผมประเมิน ทุกเรื่องที่มีการลือกัน ก็ยังไม่มีน้ำหนักมากพอจะสนับสนุนความเป็นไปได้นี้

แน่นอน ทั้งเรื่องการไม่เกิด “คาดาเวอริค สปัสซั่ม” และการที่ข่าวลือปัญหาส่วนพระองค์ขาดน้ำหนักยืนยันชัดเจน โดยตัวเอง อาจจะยังถูกโต้แย้งได้ไม่รู้จบว่า สามารถนำมาใช้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าในหลวงอานันท์ยิงพระองค์เองโดยตั้งใจ ได้มากน้อยเพียงใด แต่เมื่อบวกกับข้อเท็จจริงพื้นฐาน (ข้อ ก-ข-ค) ของ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ข้างต้น ที่แสดงให้เห็นว่าการถือปืนยิงตัวเองในท่าและตำแหน่งนั้น เป็นเรื่องพิศดาร ที่โดยทั่วไปคนฆ่าตัวตายไม่น่าจะทำกันแล้ว ผมก็เห็นว่า มีเหตุผลมากพอที่เราจะสรุปได้ว่า

ความเป็นไปได้ที่ 2 – ทรงยิงพระองค์เอง โดยตั้งใจ (“ปลงพระชนม์พระองค์เอง”) – ก็กล่าวได้ว่า ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง เช่นกัน

ผู้ที่เสนอทฤษฎีในหลวงอานันท์ฆ่าตัวตาย ที่สำคัญที่สุด คือ Rayne Kruger ใน The Devil’s Discus (London: Cassell, 1964, pp.217-240; กงจักรปีศาจ ชลิต ชัยสิทธิเวช แปล, 2517, หน้า 557-614 ผมไม่แนะนำให้อ่านฉบับแปลไทยที่มีชื่อเสียงนี้ เพราะแปลผิดพลาดในหลายตอนสำคัญ รวมทั้งตอนนี้) แต่ฉากในหลวงอานันท์ยิงตัวตายอย่างไรของ Kruger ซึ่งสมมุติให้ทรงนั่งยิงไม่ใช่นอนยิง (อาจจะทรงชันเข่าเพื่อรองรับศอกขณะมือถือปืนจ่อหน้าผาก) โดยแรงดีดของปืนทำให้ทรงล้มตัวลงยังที่นอน ยืดทั้งมือ แขน เข่า และขา มาอยู่ในท่าเหยียดนอนโดยเรียบร้อย ยิ่งไม่น่าเป็นไปได้เลย ที่สำคัญ Kruger เข้าใจผิดโดยสิ้นเชิงว่า หมอนไม่ถูกกระสุน แสดงว่านั่งยิง (“Significant too is the fact that the bullet missed the pillow”, p.222) ความจริงคือถูก หัวกระสุนทะลุหมอนไปฝังในฟูกที่นอนข้างใต้ (ดู สรรใจ และ วิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๓๓-๑๓๔ ควรกล่าวด้วยว่า Kruger ยอมรับโดยปริยายว่า ถ้าการยิงเกิดขึ้นระหว่างในหลวงอานันท์อยู่ในท่านอน ทิศทางกระสุน, ท่าทางพระบรมศพ สอดคล้องกับการถูกผู้อื่นยิงมากกว่าการยิงตัวเอง)

ในเมื่อเราตัดความเป็นไปได้ที่ในหลวงอานันท์จะยิงพระองค์เอง ทั้งโดยไม่ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 1) หรือ ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 2) ออกไปเสียได้เช่นนี้ ก็หมายความว่า ในหลวงอานันท์สวรรคตเพราะถูกผู้อื่นยิงเท่านั้น ความจริงก็คือ ขณะที่ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ขัดแย้งอย่างมากกับการยิงพระองค์เอง กลับสอดคล้องโดยสิ้นเชิง กับการถูกผู้อื่นยิง นั่นคือ ผู้ยิงเพียงแต่ยืนอยู่ที่หัวเตียงด้านซ้ายของในหลวงอานันท์ ถือปืนด้วยมือซ้ายหรือขวาก็ได้ตามถนัด จ่อเข้ามาที่บริเวณหน้าผากเหนือคิ้วซ้ายของในหลวงอานันท์ที่กำลังนอนในท่าปกติ แล้วลั่นกระสุน วิถีกระสุนก็จะเฉียงลงล่าง และเอียงทางขวาเล็กน้อย ตามที่พบในพระบรมศพ และเนื่องจากเป็นผู้อื่นยิง หากในหลวงอานันท์ทรงกำลังนอนในท่าปกติ ก็จะไม่เกิดปัญหาเรื่องสภาพของแขนและมือที่วางเรียบร้อยข้างตัว (หรือปัญหาอาการ “คาดาเวอริค สปัสซั่ม) แน่นอนว่า การลั่นกระสุนโดยผู้อื่นนี้ ก็เป็นไปได้ทั้งโดยไม่ตั้งใจ คือเอาปืนมาจ่อเพื่อล้อเล่น แต่ปืนลั่น (ความเป็นไปได้ที่ 3) หรือ โดยตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 4)



นัยยะของความเป็นไปได้ “ถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ”:
สาเหตุการสวรรคต ลดจาก 4 ทาง เหลือ 3 ทาง ได้อย่างไร?


แต่ทุกคนที่คิดถึงกรณีนี้อย่างจริงจัง รู้ทันทีว่า การถูกยิงโดยผู้อื่น โดยไม่ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 3) หมายถึงอะไร ความเป็นไปได้นี้มีอยู่กรณีเดียวเท่านั้น ดังที่หนังสือนิยมเจ้า-แอนตี้ปรีดี เรื่อง กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ของ สรรใจ และ วิพลพรรณ เขียนไว้ :
กรณีอุปัทวเหตุโดยผู้อื่นนั้น ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้เป็นคนแรก คือนายแพทย์หม่อมหลวงเต่อ สนิทวงศ์ และนายแพทย์ฝน แสงสินแก้ว ให้การในศาลกลางเมืองว่า คำว่าอุปัทวเหตุอาจหมายถึงว่าอุปัทวเหตุโดยบุคคลอื่น และยกตัวอย่างคดีรายที่เกิดจากการเอาปืนไปล้อกันโดยไม่รู้ว่าปืนมีลูกแล้วปืนเกิดลั่นขึ้น ต่อมามีผู้ปล่อยข่าวลือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาเล่นปืนกัน การสันนิษฐานประกอบข่าวลือเป็นการนำเอาสมเด็จพระอนุชาเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะโดยสามัญสำนึกแล้ว ผู้ที่จะเอาปืนไปล้อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีอยู่พระองค์เดียวคือสมเด็จพระอนุชา (หน้า ๑๗๖)

นายแพทย์ทั้งสองได้ยกสาเหตุให้คิดกันได้อีกปัญหาหนึ่ง คือ อุปัทวเหตุเกิดจากผู้อื่น โดยมีใครเอาปืนมาเล่นข้างพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วปืนลั่นขึ้น (หน้า ๑๖๑-๑๖๒)
กรณี นพ.มล.เต่อ และ นพ.ฝน ที่ถูกสรรใจและวิมลพรรณโจมตีในเรื่องนี้ ไม่แน่ชัดว่านายแพทย์ทั้งสองได้พูดเช่นนั้นจริงหรือไม่ บันทึกคำให้การในศาลกลางเมืองที่เหลืออยู่เฉพาะของ นพ.มล.เต่อ ไม่มีตอนใดที่กล่าวถึง “อุปัทวเหตุโดยบุคคลอื่น” มีแต่อุบัติเหตุโดยผู้ตายเอง(1) ส่วนบันทึกคำให้การของ นพ.ฝน ได้สูญหายไปแล้ว จึงยืนยันไม่ได้เช่นกัน(2) ความจริง ผมไม่เคยเห็นหลักฐานเป็นฃิ้นเป็นอันที่อ้างอิงได้ว่า มีคนไทยคนไหนเคยเสนอหรือสนับสนุนความเป็นไปได้นี้อย่างเปิดเผยในขณะนั้น หรือในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน (ที่ต้องเน้นคำว่าคนไทย เพราะในหมู่ฝรั่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

แต่ผมขอเสนอว่า ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ความเป็นไปได้นี้ เป็นเรื่องที่มีการคิดกันและมีการตระหนักกันถึงนัยยะของความเป็นไปได้นี้ ตั้งแต่สมัยนั้นจริงๆ การที่สรรใจและวิมลพรรณเขียนถึง “ข่าวลือ” หรือเขียนถึง นพ.เต่อและนพ.ฝน ในเรื่องทฤษฎีนี้ได้ (แม้จะขาดการอ้างอิง) ก็เพราะอันที่จริง นี่ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนหรือยากลำบากเกินกว่าจะคิดไปถึงได้ พูดอีกอย่างคือ มีการ “ลือ” กันจริงๆ

ผมขอเสนอต่อไปอีกว่า แต่เพราะความตระหนักในนัยยะอันสำคัญใหญ่หลวงของความเป็นไปได้นี้ ทำให้เกิดสภาพที่ ไม่เพียงแต่พูดถึงอย่างเปิดเผยไม่ได้ แม้แต่คิดยังแทบคิดไม่ได้ โดยเฉพาะในสมัยนั้น นัยยะของความเป็นไปได้นี้เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่โตเกินกว่าคนที่คิดถึงจะกล้าคิดต่ออย่างจริงจัง ผลที่ตามมา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งคือ ความเป็นไปได้นี้ ถูกตัดออกไปจากการสอบสวนกรณีสวรรคตโดยสิ้นเชิงตั้งแต่แรก

พวกนิยมเจ้าพยายามอธิบายว่าสาเหตุที่ไม่มีใครเสนอหรือสนับสนุนทฤษฎีในหลวงอานันท์ถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ (หรือ “อุบัติเหตุโดยผู้อื่น”) ได้อย่างเปิดเผยจริงจัง เพราะมีพยานหลักฐานยืนยันโดยเด็ดขาดชัดเจนว่า ทฤษฎีนี้เป็นไปไม่ได้เลย การที่มีการพูดกันอย่างลับๆจึงเป็นการใส่ร้ายพระอนุชาอย่างโคมลอย

แต่อะไรคือพยานหลักฐานที่พวกนิยมเจ้าพูดถึง?

ในที่สุดแล้ว ก็คือคำให้การของพระอนุชาเอง และของนายชิต สิงหเสนี และ นายบุศย์ ปัทมศริน ที่ว่า สมเด็จพระอนุชาทรงเสด็จมาที่หน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์ แต่ไม่ได้เข้าไป และทรงเดินกลับไปทางห้องบรรทมพระอนุชาเองทางเฉลียงด้านหลัง นับ 10 นาที จึงเกิดเสียงปืนดังขึ้นในห้องบรรทมในหลวงอานันท์ :
ข่าวลือที่ให้ร้ายสมเด็จพระอนุชาธิราชนั้นปล่อยออกมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคตใหม่ๆ และมีอยู่เสมอทุกระยะจนกระทั่งปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในต่างประเทศบางประเทศ แต่สิ่งที่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่ชัดก็คือ ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดลสวรรคต สมเด็จพระอนุชาประทับอยู่ในห้องเครื่องเล่นซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งบรมพิมาน ห่างจากห้องพระบรรทมซึ่งอยู่ปลายทิศตะวันออกของพระที่นั่ง พยานสำคัญคือตัวนายชิตและนายบุศย์เอง (สรรใจ และ วิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๑๘๑ การทำตัวหนาเป็นของสรรใจและวิมลพรรณเอง ผมขีดเส้นใต้เพิ่ม)
บางครั้ง พวกนิยมเจ้ายังพยายามเสนอว่า นายฉลาด เทียมงามสัจ ที่เฝ้าเครื่องเสวยอยู่มุขหน้า ก็เห็นและยืนยันได้ว่าพระอนุชาหลังจากแวะที่หน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์แล้ว ได้เดินไปทางห้องบรรทมของพระอนุชาเอง (ดู สรรใจและวิมลพรรณ, กรณีสวรรคต ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙, หน้า ๕๗ และล่าสุด มรว.กิตติวัฒนา ปกมนตรี, ก่อนเสด็จลับเลือนหาย, สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี, ๒๕๕๐, หน้า ๑๕๖-๑๕๗) แต่คำให้การของนายฉลาดต่อศาลกลางเมือง ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีลักษณะของความไม่แน่นอนสูงมาก:
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันก็ได้เสด็จมาเสวย ท่านเสด็จมาเสวยพระองค์เดียว เสวยอยู่นานสัก ๒๐ นาที เมื่อเสร็จแล้ว เสด็จไปทางห้องพระบรรทมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ท่านเสด็จไปทำไม พยานมองไม่เห็น และพระองค์ไม่ได้เสด็จกลับมาทางเฉลียงหน้าที่พยานอยู่ ดูเหมือนท่านเสด็จไปอีกทางหนึ่ง แต่เท่าที่จำได้ไม่แน่นัก เข้าใจว่าท่านจะเสด็จไปทางเฉลียงด้านหลัง พยานเข้าใจว่าคงจะเสด็จไปห้องท่าน (ดู บันทึกการสอบสวนกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘, หน้า๑๑๗ การขีดเส้นใต้ของผม)(3)
สรุปแล้ว “พยานหลักฐาน” ที่ยืนยันว่าพระอนุชาทรงเสด็จไปจากหน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์ไปทางห้องบรรทมพระองค์เอง หลายนาทีก่อนเกิดเสียงปืนขึ้น ที่ฝ่ายนิยมเจ้าจะนำมาอ้างได้จริงๆจึงเหลือเพียงคำให้การของพระอนุชาเองและของชิตและบุศย์เท่านั้น

ทีนี้ ทุกคนรู้ว่า ในคดีที่เกี่ยวกับการตายผิดปกติที่อาจเป็นการฆาตกรรม คำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์และพยานทุกคน ย่อมต้องถูกตั้งคำถามได้ว่าอาจไม่ตรงความจริง แต่ในกรณีสวรรคตนี้ ทุกคนรู้ดีเช่นกันว่า ไม่มีใครกล้าปฏิบัติต่อคำให้การของพระอนุชา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว (หรือของพระราชชนนี) อย่างที่ปฏิบัติต่อคำให้การของพยานทั่วไป อันที่จริง ไม่เพียงคำให้การของพระอนุชา/พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ และพระราชชนนี เท่านั้น ที่จะปฏิบัติต่อ แบบเดียวกับคำให้การของพยานทั่วไปไม่ได้ แม้แต่คำให้การเกี่ยวกับในหลวงองค์ใหม่และพระราชชนนี ก็ไม่สามารถได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกับคำให้การเกี่ยวกับคนอื่นๆได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพระอนุชา/ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงให้การต่อศาลในปี 2493 ว่า ในช่วงที่เกิดการสวรรคต พระองค์ทรงกำลัง “เดินเข้าๆออกๆอยู่ที่สองห้องนี้” คือห้องบรรทมของพระองค์เองและห้องเครื่องเล่น “ระหว่างที่ฉันเดินไปๆมาๆอยู่ในห้องนอนและห้องเครื่องเล่นนั้น จะมีใครอยู่ในสองห้องนั้นบ้างไหม ไม่ได้สังเกต” และทรงไม่ได้ยินเสียงปืน ได้ยินแต่ “เสียงคนร้อง” จึงทรง “ออกจากห้องเครื่องเล่นไปยังเฉลียงด้านหน้า โดยผ่านไปทางห้องบันได” แต่ในคำให้การของพระพี่เลี้ยงเนื่อง จิตตดุลย์ กล่าวถีงช่วงเวลาเดียวกันว่า เธอกำลังอยู่ใน “ห้องในหลวงองค์ปัจจุบันโดยเข้าไปจัดฟิล์มหนัง เมื่อเข้าไปในห้อง ข้าพเจ้าไม่พบใครแม้แต่ในหลวงองค์ปัจจุบัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปประทับอยู่ที่ไหนในขณะนั้นก็หาทราบไม่” และต่อมาเธอ “ได้ยินเสียงดังมาก เป็นเสียงปืน” เธอ “จึงรีบออกมาทางระเบียงด้านหลัง ผ่านห้องเครื่องเล่นของในหลวงองค์ปัจจุบัน ห้องบันได” โดยที่เธอไม่ได้พบเห็นในหลวงองค์ปัจจุบัน ... เราย่อมไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับคำให้การของพระอนุชา/ในหลวงองค์ปัจจุบัน เป็นต้น(4)

แต่ถ้าไม่นับคำให้การของพระอนุชาเองแล้ว พยานหลักฐานที่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ 3 ได้จริงๆ ก็มีเพียงคำให้การของชิตและบุศย์เท่านั้น ดังที่สรรใจและวิมลพรรณเขียนว่า “พยานสำคัญคือตัวนายชิตและนายบุศย์เอง” แต่ความจริง ถ้าพูดในแง่ความสมเหตุสมผลแล้ว ฝ่ายนิยมเจ้าอย่างสรรใจและวิมลพรรณไม่สามารถอ้างคำให้การของชิตและบุศย์ในกรณีนี้ได้ พร้อมๆกับที่เสนอว่ากรณีสวรรคตเกิดจากการลอบปลงพระชนม์โดยคนภายนอก เพราะการเสนอเช่นนั้น หมายความว่า พวกเขากำลังบอกว่า ชิตและบุศย์เชื่อถือไม่ได้ ปล่อยให้ฆาตกรลอบเข้ามาปลงพระชนม์แล้วโกหกว่าเปล่า

ในเมื่อพวกนิยมเจ้าอย่างสรรใจและวิมลพรรณ กำลังปฏิเสธคำให้การของชิตและบุศย์ในเรื่องไม่เคยให้คนนอกเข้ามาปลงพระชนม์ พวกเขาก็จะอ้างคำให้การของชิตและบุศย์มาสนับสนุนเรื่องพระอนุชาไม่ได้เช่นกัน

ถ้าไม่ยอมเชื่อชิตและบุศย์ในเรื่องแรก จะมาอ้างว่าควรเชื่อชิตและบุศย์ในเรื่องหลังได้อย่างไร?

สรุปแล้ว ถ้าความเป็นไปได้เรื่อง “ถูกผู้อื่นยิง โดยไม่ตั้งใจ” จะได้ถูกตัดออกไปจากการพิจารณาโดยสิ้นเชิงตั้งแต่แรก ก็ไม่ใช่เพราะมีพยานหลักฐานที่หักล้างไม่ได้เลย มายืนยันว่า เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่เพราะสถานะของพระมหากษัตริย์ที่อยู่เหนือกฎหมาย คือไม่สามารถพิจารณาในลักษณะเดียวกับคนธรรมดาได้ (กรณีคำให้การของชิตและบุศย์เอง เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุด : ถ้าบอกว่า ลอบปลงพระชนม์เป็นไปได้ ก็แสดงว่า ถือกันว่า คำให้การของชิตและบุศย์ในเรื่องไม่มีคนนอกเข้าไปในห้องบรรทม หักล้างได้ แต่เหตุใด คำให้การของคนทั้งสองเรื่องพระอนุชาเสด็จกลับไปจากห้องบรรทมก่อนเกิดเสียงปืน จึงถูกถือว่า หักล้างไม่ได้)

การอภิปรายสาธารณะทั้งหมดเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ตั้งแต่วันแรก รวมถึงการชันสูตรพระบรมศพของคณะแพทย์ และการพิจารณาของคณะกรรมการที่รัฐบาลปรีดีตั้งขึ้นที่เรียกว่า “ศาลกลางเมือง” ไม่ต้องพูดถึงการอภิปรายทางหน้าหนังสือพิมพ์ ล้วนอยู่ภายใต้กรอบที่ว่า สาเหตุของการสวรรคตมีเพียง 3 ทาง คือ ยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ, ยิงพระองค์เองโดยตั้งใจ และ ถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ โดยมีการ “ขึ้นป้าย” ความเป็นไปได้ 3 ทางนี้อย่างตายตัวว่า “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์เอง” และ “ถูกปลงพระชนม์”(5)




ทำไมแพทย์และใครต่อใครที่สอบสวนกรณีนี้ จึงบอกว่า “ลอบปลงพระชนม์”
หรือ ปรีดี แพ้สงครามพีอาร์ อย่างไร


ภายใต้ “กรอบ” หรือ (ถ้าจะใช้ภาษายอดนิยมปัจจุบัน) “วาทกรรม 3 สาเหตุ” นี้ ไม่เป็นเรื่องแปลกที่ ความเห็นต่างๆจะมาลงเอยที่ “ลอบปลงพระชนม์” อันที่จริง เป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่ต้องลงเอยที่ “ลอบปลงพระชนม์” ด้วยซ้ำ เพราะดังที่ผมอภิปรายให้เห็นข้างต้น “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการยิงพระองค์เอง (ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) เกือบจะโดยเด็ดขาด แต่ส่อแสดงว่าเป็นการถูกผู้อื่นยิง แต่ในเมื่อ การถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ ถูกตัดออกไปเสีย ก็เหลือเพียงการถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจเท่านั้น สำหรับอธิบาย “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” นั้น อย่างลงตัว

พูดอีกอย่างคือ ที่การสอบสวนต่างๆลงเอยว่า “ลอบปลงพระชนม์” ก็ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากบอกเพียงว่า “ถูกผู้อื่นยิง” (ไม่ใช่ยิงพระองค์เอง) เท่านั้น

นี่คือความหมายที่แท้จริงของข้อสรุป “ลอบปลงพระชนม์” จากการวินิจฉัยกรณีสวรรคต 2 ครั้งที่รู้จักกันดี คือ การชันสูตรพระบรมศพของคณะแพทย์ชาวไทยและต่างประเทศ และ การพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนที่รัฐบาลตั้งขึ้น ที่เรียกกันว่า “ศาลกลางเมือง”

ในกรณีคณะแพทย์ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2489 (คือไม่กี่วันหลังสวรรคต) มีการประชุมชันสูตรพระบรมศพโดยคณะแพทย์ 20 คน เป็นแพทย์ไทย 16 คน แพทย์ต่างชาติ 4 คน (อเมริกัน 1 คน, แพทย์จากกองทัพบริติชและบริติชอินเดีย 3 คน) และมี พตท.เอ็จ ณ ป้อมเพชร ในฐานะตัวแทนกรมตำรวจเข้าร่วมด้วย หลังการชันสูตร แพทย์ทุกคนได้แสดงความเห็นว่าอะไรคือสาเหตุการสวรรคต แต่แพทย์อังกฤษและอินเดียทั้ง 3 คนขอถอนความเห็นที่แสดงไปแล้วออกจากบันทึกทางการ

สิ่งที่ต้องสังเกตเป็นอันดับแรกคือ สาเหตุการสวรรคตที่แพทย์ใช้เป็นกรอบในการลงความเห็น มีเพียง “3 สาเหตุ” เท่านั้น คือ “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์พระองค์เอง” และ “ถูกปลงพระชนม์” โดยที่ “อุบัติเหตุ” หมายถึง “ยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ” ประการต่อมา สิ่งที่แพทย์วินิจฉัยและใช้เป็นข้อมูลการตัดสินใจลงความเห็น ที่สำคัญได้แก่ ลักษณะและตำแหน่งของบาดแพล, วิถีกระสุน และลักษณะพระบรมศพ นั่นคือ สิ่งที่ผมเรียกรวมๆในตอนต้นว่า “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” นั่นเอง ในจำนวนผู้ออกความเห็นทั้งหมด 18 คน (แพทย์ไทย 16 คน, แพทย์อเมริกัน และ พตท.เอ็จ) เสียง่ข้างมากแบบเด็ดขาด 12 คน ยืนยันว่าเป็นการ “ถูกปลงพระชนม์” อีก 4 คนเห็นว่า “ปลงพระชนม์เองหรือถูกปลงพระชนม์ ทั้งสองประการเท่าๆกัน” มีเพียง 2 คนเท่านั้นเห็นว่าเป็น “อุบัติเหตุ” (นพ.เต่อ กับ นพ.ฝน ดังที่กล่าวในตอนต้น) อันที่จริง ใน 16 คนแรกที่เพิ่งกล่าวถึง 8 คนบอกตัด “อุบัติเหตุ” ออกไปเลยว่าเป็นไปไม่ได้ (หนึ่งในนั้น นพ.ชุบ โชติกเสถียร ตัดการยิงพระองค์เองออกหมดคือ ตัด “ปลงพระชนม์เอง” ด้วย) ที่เหลือเกือบทุกคนก็ใส่ “อุบัติเหตุ” ไว้หลังสุด (คือเรียงลำดับความเป็นไปได้ว่า “ถูกปลงพระชนม์, ปลงพระชนม์เอง หรือ อุบัติเหตุ”)(6)

ถึงจุดนี้ เราควรเข้าใจได้แล้วว่า เหตุใดคณะแพทย์ซึ่งชันสูตรพระศพจึงสนับสนุนทฤษฎี “ลอบปลงพระชนม์” อย่างมากมายเช่นนั้น ก็เพราะ “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” บอกว่า “ถูกผู้อื่นยิง” แต่ในเมื่อ “3 สาเหตุ” ที่เป็นทางเลือกนั้น มีทางเลือกเดียวสำหรับการ “ถูกผู้อื่นยิง” คือ “ถูกลอบปลงพระชนม์” แพทย์ส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่าเป็นสาเหตุนี้ ข้อสรุปที่ออกมาว่า “ลอบปลงพระชนม์” จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการบอกว่านี่เป็นการ “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น แต่นั่นป็นสิ่งที่สาธารณชนในขณะนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ และเข้าใจว่า หมายถึง มีคนภายนอกลอบเข้ามายิงในหลวงอานันท์เท่านั้น

กรณี “คณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล” หรือที่รู้จักกันในนาม “ศาลกลางเมือง” ก็เช่นเดียวกัน การสอบสวนอยู่ภายใต้กรอบ “3 สาเหตุ” ที่ถูกติดป้ายว่า “อุบัติเหตุ”, “ปลงพระชนม์เอง” และ “ถูกลอบปลงพระชนม์” ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะกรรมการจะตัด “อุบัติเหตุ” ออกอย่างสิ้นเชิง: “สำหรับกรณีอุบัติเหตุ คณะกรรมการมองไม่เห็นทางว่าจะเป็นไปได้เลย”
ส่วนอีกสองกรณีคือ ถูกลอบปลงพระชนม์และปลงพระชนม์เองนั้น การถูกลอบปลงพระชนม์ ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียได้โดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่ ส่วนในกรณีปลงพระชนม์เองนั้น ลักษณะบาดแผลแสดงว่าเป็นไปได้ แต่ไม่ปรากฏเหตุผลหรือหลักฐานอย่างใดว่าเป็นเช่นนั้นโดยแน่ชัด คณะกรรรมการจึงไม่สามารถที่จะชี้ขาดลงไปได้ว่าเป็นกรณีหนึ่งกรณีใด ในสองกรณีนี้
ไม่เป็นการยากที่จะอธิบายข้อความที่เขียนอย่างระมัดระวังนี้ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นการให้เหตุผลอย่างกำกวม ก่อนอื่น ผมเห็นว่า ไม่มีปัญหาว่า คณะกรรมการให้น้ำหนักการ “ถูกลอบปลงพระชนม์” มากกว่า

กรณี “ปลงพระชนม์เอง” (คือยิงตัวเองโดยตั้งใจ) ที่คณะกรรมการกล่าวว่า “ลักษณะบาดแผลแสดงว่าเป็นไปได้” นั้น น่าจะหมายถึงสภาพที่การยิงเกิดในระยะใกล้มากๆ อาจถึงขั้นปากกระบอกปืนกดอยู่ที่ผิวหน้าผาก คล้ายกับการฆ่าตัวตายทั่วไป ไม่ใช่อุบัติเหตุ (ไม่มีใครกดปืนเข้ากับหน้าผากตัวเอง แล้วลั่นขึ้นโดยไม่ตั้งใจ)

ส่วนกรณี “ถูกลอบปลงพระชนม์” ที่คณะกรรมการเขียนให้เหตุผลเชิงปฏิเสธไว้ก่อน (“ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผล...”) นั้น ไม่อาจปิดบังข้อสรุปที่ว่า กรณีนี้เป็นไปได้อย่างมาก “เพราะ...มีท่าทางของพระบรมศพ” เป็นสิ่งบ่งชี้อยู่ พูดตามสำนวนที่ผมใช้มาแต่ต้นคือ คณะกรรมการกำลังอ้าง “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” มาสนับสนุนเรื่อง “ถูกลอบปลงพระชนม์” นั่นเอง แต่ดังที่ผมอภิปรายแล้วว่า “ท่าทางของพระบรมศพ” ดังกล่าว สามารถบอกได้แต่เพียงว่า นี่เป็นการ “ถูกผู้อื่นยิง” เท่านั้น การที่คณะกรรมการอ้าง “ท่าทางของพระบรมศพ” มาสนับสนุนทฤษฎี “ถูกลอบปลงพระชนม์” ก็เพียงเพราะว่า นี่เป็นสาเหตุเดียวใน “3 สาเหตุ” ที่บอกการ “ถูกผู้อื่นยิง” ประโยคสำคัญของคณะกรรมการที่ว่า
การถูกลอบปลงพระชนม์ ไม่มีพยานหลักฐานและเหตุผลที่แน่นอนแสดงว่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตัดออกเสียได้โดยสิ้นเชิง เพราะว่ายังมีท่าทางของพระบรมศพค้านอยู่
จึงสามารถเขียนใหม่ ให้แสดงเหตุผลหรือความเป็นมาแท้จริงของข้อสรุปนี้ได้ ดังนี้
ไม่มีพยานหลักฐานว่ามีคนลอบเข้ามาปลงพระชนม์ได้ แต่ลักษณะทางกายภาพของการยิง คือ ท่าทางของพระบรมศพ บ่งบอกว่า เป็นการถูกผู้อื่นยิง

ด้วยลักษณะเดียวกัน (แต่เป็นการกระทำแบบมีเป้าหมายการเมืองมากกว่า) การที่งานแบบฉบับเรื่องกรณีสวรรคตของพวกนิยมเจ้า ของสรรใจและวิมลพรรณ สรุปว่า
หลักฐานต่างๆเท่าที่เหลืออยู่นี้ ปรากฏว่าค้านกับสมมุติฐานที่ว่า สวรรคตจากอุปัทวเหตุและปลงพระชนม์เอง แต่สนับสนุนสมมุติฐานว่าสวรรคตเพราะถูกลอบปลงพระชนม์ (หน้า ๑๕๓ เน้นคำตามต้นฉบับ)
ก็เป็นการกล่าวที่ถูกต้องหรือวางอยู่บนความจริงบางส่วน แต่ขณะเดียวกัน ก็ปิดบังความจริงบางส่วนไว้ (ดังนั้นจึงบิดเบือน) นั่นคือ ประโยคแรกกล่าวถูกต้องว่า “หลักฐานต่างๆเท่าที่เหลืออยู่นี้ ปรากฏว่าค้านกับสมมุติฐานที่ว่า สวรรคตจากอุปัทวเหตุและปลงพระชนม์เอง” แต่ประโยคหลัง สิ่งที่ “หลักฐานต่างๆเท่าที่เหลืออยู่...สนับสนุน” ไม่ใช่ “สมมุติฐานว่าสวรรคตเพราะถูกลอบปลงพระชนม์” แต่คือ สวรรคตเพราะถูกผู้อื่นยิง เท่านั้น(7)

การรณรงค์ของพวกนิยมเจ้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2489 มาถึงปัจจุบัน เริ่มจากความจริงแบบนี้ อาศัยประโยชน์จากความจริงแบบนี้ กล่าวคือ ยิ่งพิจารณาเท่าไร ก็ยิ่งแสดงว่า ถูกผู้อื่นยิง แต่ในเมื่อ การถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ ไม่อาจพูดถึงได้ ก็เหลือเพียงการถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ คือ “ลอบปลงพระชนม์” เท่านั้น

ในทางกลับกัน รัฐบาลปรีดี ซึ่งชูประเด็น “อุบัติเหตุ” ก็ยิ่งดูเหมือนว่ากำลังปิดบังความจริงมากขึ้นเท่านั้น เพราะ “อุบัติเหตุ” ในความหมายที่ ทรงยิงพระองค์เองโดยไม่ตั้งใจ (ความเป็นไปได้ที่ 1) นั้น เมื่อพิจารณาจาก “ลักษณะทางกายภาพของการยิง” แล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้น้อยที่สุด กล่าวได้ว่า ไม่อาจเป็นไปได้เลย

แต่ทำไม รัฐบาลปรีดีจึงยืนกรานเรื่อง “อุบัติเหตุ” ใน “วาทกรรม 3 สาเหตุ”? ผมคิดว่า ตอนแรก คงไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะ ก่อนอื่น ไม่มีใครคิดว่า มหาดเล็กที่เป็นข้าทาสในวังมาหลายชั่วคน จะให้คนภายนอกเข้ามายิงได้ และในเมื่อมหาดเล็กนั้นเองบอกว่า ไม่มีใครเข้าไปในห้องบรรทมขณะปืนลั่น ก็เหลือเพียงการยิงพระองค์เองอีก 2 ทางเท่านั้น ครั้นจะบอกว่า “ฆ่าตัวตาย” (ยิงเองแบบตั้งใจ) ก็จะเสียพระเกียรติ จึงลงเอยที่ “อุบัติเหตุ” หรือยิงเองแบบไม่ตั้งใจ แต่พอลงเอยแบบนี้แล้ว เมื่อเริ่มมีการพูดกันในรายละเอียดมากขึ้นๆเท่าไร ก็กลับกลายเป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด เพราะเป็นไปไม่ได้เลย ผมควรเล่าด้วยว่า เมื่อข้อสรุปของศาลกลางเมือง ออกมาในทาง “ลอบปลงพระชนม์” รัฐบาลหลวงธำรงที่รับช่วงต่อจากปรีดี ได้มีการพิจารณาจะจับชิตกับบุศย์เหมือนกัน (อย่างน้อยแบบพอเป็นพิธี เพราะจริงๆแล้วไม่เชื่อ) เพราะถ้าเป็นการ “ลอบปลงพระชนม์” ก็ต้องหมายความว่า 2 คนนั้น ยอมให้คนอื่นเข้ามายิง ไม่มีใครในรัฐบาลขณะนั้น จะกล้าคิดถึงความเป็นไปได้เรื่อง “ถูกผู้อื่นยิงโดยไม่ตั้งใจ” (ดูบทความของผมเรื่อง “ท่าทีรัฐบาลปรีดี-ธำรงต่อกรณีสวรรคต”)

ยิ่งหลักฐานแสดงว่า เป็นการ “ลอบปลงพระชนม์” เท่าใด ก็เพียงแต่ยืนยันว่า กรณีนี้ เป็นการยิงโดยผู้อื่นเท่านั้น และหลักฐานออกมาในด้านนี้จริงๆ

แต่ประเด็นยังอยู่ทีว่า การยิงโดยผู้อื่น สามารถเป็นโดยตั้งใจก็ได้ โดยไม่ตั้งใจ หรือ “อุบัติเหตุโดยผู้อื่น” ก็ได้ ตัวหลักฐานทั้งหลายที่ (ยกเว้นคำให้การของพระอนุชาและของชิตและบุศย์) ไม่สามารถบอกได้เลยว่า ต้องเป็นถูกผู้อื่นยิงโดยตั้งใจ หรือ ลอบปลงพระชนม์เท่านั้น

พูดง่ายๆคือ มีผู้อื่นยิงในหลวงอานันท์ อาจจะโดยตั้งใจ หรือ โดยไม่ตั้งใจก็ได้

ในหลวงอานันท์ถูกผู้อื่นยิง ไม่ได้ยิงพระองค์เอง

ปัญหาคือ ใครยิงในหลวงอานันท์?




โปรดติดตาม
ตอนที่ 3 ใครยิงในหลวงอานันท์?