Thursday, November 15, 2007

ท่าทีรัฐบาลปรีดี-ธำรงต่อกรณีสวรรคต



ผมหวังว่าจะมีโอกาสเขียนถึงประวัติศาสตร์กรณีสวรรคตทั้งหมดโดยละเอียดในอนาคต ในทีนี้ ผมขอนำเสนอข้อมูลบางประการเกี่ยวกับท่าทีของรัฐบาลปรีดี-ธำรงหลังเกิดกรณีสวรรคต โดยเฉพาะในส่วนที่ (เท่าที่ผมทราบ) ไม่เคยมีการเปิดเผยหรือพูดถึงมาก่อนในหนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตต่างๆ

ก่อนอื่น ขอเตือนความจำว่า กรณีสวรรคตบังเอิญเกิดขึ้นขณะที่ไม่มีรัฐบาลจริง มีแต่รัฐบาลรักษาการ เพราะนายกรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ และคณะรัฐมนตรีได้ถวายบังคมลาออกในวันที่ 1 มิถุนายน 2489 เพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลใหม่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และมีเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเพื่อประกอบเป็นรัฐสภาใหม่แล้ว ก่อนวันสวรรคตวันเดียว มีประกาศตั้งปรีดีเป็นนายกอีกครั้ง แต่ยังไม่ทันตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ก็เกิดการสวรรคตขึ้น

ในการประชุมสภาในคืนนั้น ปรีดีให้ ทวี บุณยเกตุ แถลงในนามรัฐบาลเสนอให้อัญเชิญพระอนุชาเจ้าฟ้าภูมิพลเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ในหนังสือบางเล่มอ้างว่า มีการประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติในเรื่องนี้ด้วย ผมไม่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ เพราะปัจจุบัน ไม่มีรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 1 ถึง 11 มิถุนายน เหลืออยู่ มีรายงานการประชุมครั้งสุดท้ายของ ครม.ชุดก่อนลาออก ในวันที่ 31 พฤษภาคม (การประชุมครั้งที่ 19/2489) และมีรายงานการประชุมของ ครม.ที่ตั้งใหม่ ตั้งแต่ครั้งแรกในวันที่ 12 มิถุนายน (การประชุมครั้งที่ 1/2489 เริ่มต้นนับครั้งที่ใหม่) แต่ไม่มีรายงานการประชุมระหว่าง 11 วันนั้นเลย อาจเป็นไปได้ว่า มีการประชุม ครม.รักษาการในคืนวันสวรรคต แต่ไม่มีการทำรายงานไว้หรือทำไว้แต่สูญหายไป หรือมิฉะนั้น ก็อาจไม่มีการประชุม ครม. และข้อเสนอเรื่องอัญเชิญพระอนุชาเป็นการตัดสินใจของปรีดี (อาจจะร่วมกับอดีต รมต.ที่ใกล้ชิดบางคน) เท่านั้น โดยส่วนตัว ผมสงสัยว่าน่าจะเป็นกรณีหลัง

เมื่อมีการตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ เป็นธรรมดาที่การจัดการเรื่องงานพระบรมศพจะเป็นวาระต่อเนื่องสำคัญของรัฐบาลใหม่ เริ่มตั้งแต่การประชุมครั้งแรกในวันที่ 12 มิถุนายน ทวี บุณยเกต ในฐานะรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี (เทียบเท่า รมต.สำนักนายก ในสมัยหลัง) อธิบายว่า “ในการจัดการพระราชกุศลถวายพระบรมศพคราวนี้ ได้สั่งให้จัดถวายตามแบบอย่างเมื่อครั้งพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกประการ” โดยสำนักพระราชวังได้คำนวนค่าใช้จ่ายจากการประดิษฐานพระบรมศพถึงงานทำบุญ 7 วัน ไม่รวมค่าก่อสร้างพระเมรุและงานถวายพระเพลิง เป็นเงินไม่เกิน 1,832,304 บาท (รายงานการประชุม ครม. 1/2489)



กำเนิด “ศาลกลางเมือง”

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องการจัดงานพระบรมศพ ก็คือ วิกฤตการเมืองที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากการสวรรคต ปัจจุบันเราได้รู้แล้วว่า ภายใน 2 วันหลังการสวรรคต ราชนิกูลชั้นสูงบางคน (ระดับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ) ได้ไปพบทูตอังกฤษประจำไทย ปล่อยข่าวว่าในหลวงอานันท์ถูกลอบปลงพระชนม์อย่างแน่นอน เจ้านายองค์นี้อ้างว่าเห็นพระศพด้วยตัวเอง กระสุนเข้าทางท้ายทอยออกทางหน้าผาก และว่านี่เป็นฝีมือของปรีดีเพื่อข่มขวัญให้พระราชวงศ์ทั้งหมดยอมทำตาม เป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างสาธารณรัฐ (ดูรายงานของทูตอังกฤษที่ปรีดีเอามาเปิดเผยใน คำพิพากษาใหม่กรณีสวรรคต ร.8, 2523, หน้า199-201) แน่นอน ขณะนั้นรัฐบาลปรีดีอาจจะยังไม่ตระหนักถึงการเคลื่อนไหวที่ทำกับวงการทูตฝรั่งของพวกนิยมเจ้านี้ แต่การปล่อยข่าวในพระนครที่ดำเนินไปพร้อมกัน เช่น โทรศัพท์ไปตามหน่วยราชการตั้งแต่บ่ายวันสวรรคต บอกว่า อย่าเชื่อแถลงการณ์รัฐบาล ในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์แน่ๆ ได้เข้าถึงหูรัฐบาลแล้ว (เพิ่งอ้าง, หน้า 48-49) เพื่อสยบข่าวลือเช่นนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มิถุนายน ปรีดีจึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนสาเหตุการสวรรคต ที่จะถูกเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลกลางเมือง” โดยให้มีลักษณะเป็นสาธารณะมากที่สุด (รายงานการประชุม ครม. 3/2489):
1. เรื่องตั้งกรรมการสอบสวนการสวรรคต

นายปรีดี พนมยงค์ – เรื่องสวรรคตมีสงสัยและพูดกันมาก ถ้าจะตั้งกรรมการของรัฐบาลที่จะสอบสวนเรื่องนี้ คือ 1.ประธานกรรมการศาลฎีกา 2.อธิบดีศาลอุทธรณ์ 3.อธิบดีศาลอาญา 4.อธิบดีอัยยการ 5.ประธานสภาอาวุโส 6.ประธานสภาผู้แทน และ 7.เจ้านาย พระองค์ธานี ทำนอง Court of Inquiry ให้ทำหน้าที่สอบสวนพฤติการณ์เรื่องนี้ ให้พิจารณาอย่างเปิดเผย ใช้สถานที่ของศาลยุติธรรม ประชาชนได้ฟังได้ ทางตำรวจจะได้นำพะยานมาสอบถามทีละคน ประชาชนจะยกมือให้กรรมการถามก็ถามได้ จะสมควรไหม ได้ถามแล้ว ทางตำรวจก็พร้อมที่จะทำให้เช่นนี้แล้ว เราก็ทำ fair play ทุกอย่าง

พระยาสุนทรพิพิธ – ที่จะให้ประชาชนให้กรรมการถามจะเกินไป

นายปรีดี พนมยงค์ – ผู้มีสิทธิถาม 1.กรรมการ 2.ตำรวจ กรรมการจะมีอะไรต้องการรู้ จากพระเจ้าอยู่หัว พระราชชนนี ก็ไปขอเฝ้าได้ ไม่ใช่เรียกพระองค์ท่านมาที่ศาล

นายทวี บุณยเกตุ – เราควรแถลงว่า ไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าขณะเกิดเหตุนั้น แถลงเกี่ยวกับพระราชประเพณี ควรแถลง

พระยาสุนทรพิพิธ – สถานที่ควรเป็นในพระราชวัง ไม่ใช่เป็นการกลางเมือง

นายปรีดี พนมยงค์ – เอาศาลาสหทัย

หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ – ก.พ. อยู่

นายปรีดี พนมยงค์ – เราก็เคารพพระมหากษัตริย์จริงๆ พวกอื่นมันไม่ได้เคารพ ผู้ใดเห็นควรจะถามอย่างไร ก็เขียนข้อถามให้กรรมการถามได้ ส่งล่วงหน้าหนึ่งวัน

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – เอาอย่างนี้ ใคร จะมีอะไร รู้อะไรในเรื่องนี้ ให้ไปแจ้งแก่อธิบดีกรมตำรวจ กรณีที่เจ้าตัวจะปิด ก็รับว่าจะไม่เปิดเผย สถานที่เอาที่ยุตติธรรม ผมก็จะจัดให้

พ.อ.พระยาสุรพันธ์เสนี – ดีแล้ว

พระยาสุนทรพิพิธ – เราตกลงกันแล้ว ควรนำความกราบบังคมทูลในหลวงเสียก่อนว่าจะทำวิธีนี้ ให้ท่านเห็นพ้องด้วย ให้มันขาวกระจ่าง

นายปรีดี พนมยงค์ – เราเอาหลักการอันนี้ไว้ เมื่อตั้งผู้สำเร็จฯพรุ่งนี้แล้ว ก็ขอให้ผู้สำเร็จฯนำความกราบบังคมทูล ส่วนที่เราจะเปิดโอกาสผู้ใดมีข่าวอย่างไรให้แจ้งไปกรมตำรวจ เพื่อที่กรมตำรวจจะได้รวบรวมประกาศไป สำหรับผู้มีความจงรักภักดีทั้งหลาย ที่จะช่วยเหลือการสอบสวนของกรมตำรวจ ให้ดียิ่งขึ้น ผู้ใดมีหลักฐาน หรือรู้อะไร ขอได้โปรดให้หลักฐาน ให้แจ้งมาแล้วผู้ใดจะปิดลับ เราก็จะปิดเป็นความลับ เป็นมติคณะรัฐมนตรี โฆษณาก็ทำประกาศได้ แล้วบอกไปกรมตำรวจ ขอให้แจ้งตรงไปอธิบดีตำรวจ ส่วนที่ทำการก็ใช้ห้องในกระทรวงยุตติธรรม

ที่ประชุมตกลง

1. ให้ตั้งกรรมการ ประกอบด้วย
(1) ประธานกรรมการศาลฎีกา
(2) อธิบดีศาลอุทธรณ์
(3) อธิบดีศาลอาญา
(4) อธิบดีกรมอัยยการ
(5) ประธานพฤฒสภา
(6) ประธานสภาผู้แทน
(7) พระองค์เจ้าธานีนิวัต
เป็นกรรมการสอบสวนพฤตติการณ์เกี่ยวกับการสวรรคตคราวนี้ โดยเปิดเผย

2. ให้ใช้ห้องในกระทรวงยุตติธรรมเป็นที่พิจารณาสอบสวน

3. เมื่อตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต

4. ให้กรมโฆษณาการทำประกาศให้ผู้จงรักภักดีที่จะช่วยเหลือการสอบสวนของกรมตำรวจให้ดียิ่งขึ้น แสดงหลักถานหรือความรู้ความเห็นต่ออธิบดีกรมตำรวจ
จะเห็นว่า เดิมปรีดีเสนอให้ตั้งเจ้านายเพียงองค์เดียวเป็นกรรมการ คือ พระองค์เจ้าธานี แต่ในการประชุมในอีก 3 วันต่อมา ได้มีการเสนอเพิ่มเจ้านายอีก 2 พระองค์เป็นกรรมการด้วย (รายงานการประชุม ครม. 4/2489):
1. เรื่องตั้งกรรมการสอบสวนพฤตติการณ์เนื่องในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต

นายปรีดี พนมยงค์ – เรื่องการสอบสวนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสนอคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นชอบด้วยแล้ว ที่จะตั้งกรรมการขึ้นสอบพฤตติการณ์ นี่ก็ได้เชิญ (กรรมการ) ไป ขอที่ (พิจารณา) ที่กระทรวงยุตติธรรม

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ผมจัดให้แล้ว เอาห้องโถงหน้ากระทรวง ขอไมโครโฟน 2 น ติดสปี๊กเกอร์ที่หลังบางธารณี ขอให้กรมโฆษราจัด

นายปรีดี พนมยงค์ – ในวันนี้ใคร่จะได้เปิดพระบรมโกศออกตรวจ โดยว่าข้อนี้มีผู้สงสัยว่ามีผู้ลอบปลงพระชนม์ท่าน ได้เชิญพระราม หลวงนิตย์ และให้เตรียมแพทย์ เครื่องเอ๊กเรย์ กรมชัยนาทท่านก็รับสั่งให้ทำได้

นายทวี บุณยเกตุ – เป็นลายลักษณ์อักษรหรือ เดี๋ยวจะว่าเปล่า แพทย์ที่จะตรวจก็ต้องหลายคน

นายปรีดี พนมยงค์ – เราทำหนังสือถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย แพทย์เท่าที่คิดไว้มีใคร

พันตรี หลวงนิตย์เวสวิศิษฐ์ – เจ้าคุณดำรง พลตรีสงวน ผม หลวงพิณ หมอเช้ง......

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ผมอยากจะเรียนเรื่องการระมัดระวังความปลอดภัยในหลวงองค์นี้ต้องจัดเสีย

นายปรีดี พนมยงค์ – นี่ก็เอาพระองค์จุมภฏ พระองค์ธานีนั้นเดี๋ยวจะว่าเป็นญาติกับผม

พระยาสุนทรพิพิธ – เอาเสียอีก 2 พระองค์ก็ดี พระองค์ธานี พระองค์ภาณุ

นายปรีดี พนมยงค์ – เชิญพระองค์ภาณุ พระองค์ธานีมาด้วย พระบรมศพเปิดเอาพรุ่งนี้ก็ได้

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ผมสั่งไว้แล้วเรื่องสถานที่ ทีนี้กรรมการแกมาหาถามว่า terms of reference …. อย่างไร ผมก็บอกว่าเป็นกรรมการ ไม่ใช่ศาล เดี๋ยวหนังสือพิมพ์จะว่าผิดรัฐธรรมนูญ ตัด Court of Inquiry ออกดีกว่า แล้วในกรณีนี้ ถ้าเกิดมีคดีหมิ่นประมาทขึ้น จะว่าอย่างไร

นายปรีดี พนมยงค์ – เป็นการสอบสวนของตำรวจ แต่ต่อหน้ากรรมการ (อ่านประกาศตั้งกรรมการ ........แนบท้ายรายงาน)

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – ประชาชนซักไม่ได้

นายปรีดี พนมยงค์ – การพูดต้องตามความจริง

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – หลักเราถือเป็นการสอบสวนของกรมตำรวจ แต่ต่อหน้ากรรมการ เรื่องเอ๊กเรย์ ถ้าทำได้เป็นการดี

นายทวี บุณยเกตุ – กรรมการก็ให้ซักได้ เดี๋ยวจะว่าตั้งเป็นจะเหว็ด

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – ให้กรรมการซักได้ เราจด

นายปรีดี พนมยงค์ – สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระชนนี ก็เผชิญสืบเอา ไม่ต้องเอามา

พระยาสุนทรพิพิธ – บัตรสนเท่ห์ก็ควรเสนอกรรมการด้วย

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ดี ถ้าหากว่าเรื่องเป็นไปในการลอบทำร้ายแล้ว ตำรวจก็ทำต่อไป ไม่ใช่เรื่องกรรมการ

นายปรีดี พนมยงค์ – ขอมอบให้เลขาศาลฎีกาเป็นเลขาด้วย

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – (นาย) สัญญา เงินค่าใช้จ่าย ให้มาเบิกทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

นายปรีดี พนมยงค์ – ให้นายสัญญา เป็นเลขานุการ นายสอาด เป็นผู้ช่วย

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – ขอ (พ.ต.ต.) เอ็จ สักคนหนึ่ง

นายปรีดี พนมยงค์ – การย้ายพระศพวันนั้น ใครสั่ง

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – พระยาอนุรักษ์สั่ง

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – ได้ความว่ามีรอยไหม้ไหม

พ.ต.ต.ขุนประสงค์สิทธิการ – ไม่ได้สังเกตุดู

นายปรีดี พนมยงค์ – อย่าลืมว่าชีพจรยังอยู่ เวลาพระอนุชาเสด็จไป

พระยาสุนทรพิพิธ – อย่าลืม ท่านกินยาถ่าย คนกินยาถ่าย ท่านต้องรอให้ถ่าย ระหว่างนั้นอาจเล่นอะไรฆ่าเวลาก็ได้

พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ – เสียงประชาชนนึกว่า นายชิต อยู่คนเดียว

พล.ต.ท.พระรามอินทรา – คุยกับนายบุศย์

นายปรีดี พนมยงค์ – ต้องบันทึกการตรวจเพดานพระที่นั่ง มีรูยิงไหม

ที่ประชุมตกลง

1. ให้ตั้งกรรมการเพิ่ม คือ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธยุคล
พลตรี วิเชียร สุตันตานนท์
พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์
พลอากาศตรี หลวงเชิดวุฒากาศ
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเลขานุการ
นายสอาด นาวีเจริญ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

2. เงินค่าใช้จ่ายให้เบิกทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

3. ให้กรมโฆษณาการจัดเรื่องกระจายเสียง

การตั้งผู้สำเร็จราชการให้ในหลวงองค์ใหม่
และการเกือบจะตั้งให้ในหลวงอานันท์


การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ปรีดีพูดถึงในการประชุมวันที่ 15 ข้างต้น จำเป็นเพราะในหลวงองค์ใหม่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ในที่ประชุมวันนั้นเครม.ได้ตกลงเสนอกรมขุนชัยนาทนเรนทรและพระยามานวราชเสวี (ดูข้างล่าง) และสภาให้การรับรองในวันต่อมา โดยสภามีมติกำกับว่า “ในการลงนามในเอกสารราชการนั้น ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ลงนาม” เรื่องนี้จะมีความสำคัญในปีต่อมา เมื่อทหารกับพวกนิยมเจ้าร่วมกันทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เรียกว่า “ฉบับใต้ตุ่ม” กรมขุนชัยนาทนเรนทรจะเป็นผู้ลงพระนามเพียงผู้เดียวในรัฐธรรมนูญนั้นอย่างขัดกับมติของสภา