Sunday, January 27, 2008

ในหลวงทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับประเทศไทย จนกว่าคดีสวรรคตจะเสร็จสิ้น (2491)



ความจริง สถานการณ์ที่ประเทศสยาม-ไทย ไม่มีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศอย่างถาวรเป็นเวลาประมาณเกือบ 20 ปี (2477-ธันวาคม 2494) ไม่ใช่เกิดจากความต้องการของรัฐบาล ทั้งรัฐบาลคณะราษฎรในปลายทศวรรษ 2470 และต้นทศวรรษ 2480 หรือรัฐบาลปรีดี ช่วงปลายทศวรรษนั้น และรัฐบาลคณะรัฐประหารในครึ่งแรกของทศวรรษต่อมา

แต่มาจากความปรารถนาของฝ่ายราชสำนัก ขององค์พระมหากษัตริย์และพระญาติเอง ด้วยเหตุผลที่ต่างๆกันไป

ทุกรัฐบาล มีการกราบบังคมทูลเชิญด้วยหนังสือหรือด้วยวาจาให้เสด็จกลับประเทศ หรือกราบบังคมทูลเชิญ ให้ประทับต่อ ไม่เสด็จกลับไปต่างประเทศ หลังการเสด็จนิวัตรพระนคร แต่ได้รับการยืนยันในเชิงปฏิเสธทุกครั้ง

กรณีที่สำคัญ คือ ช่วงที่ในหลวงอานันท์เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ (2478) และกรณีที่ทรงเสด็จนิวัตรพระนครครั้งที่สองในปี 2488-2489 รัฐบาลปรีดีก็ได้เสนอให้ทรงประทับอยู่ในประเทศเป็นการถาวร โดยเสนอจะจัดหาพระอาจารย์มาให้การศึกษา แต่ทรงยืนยันจะเสด็จกลับไปศึกษาต่อ ในที่สุด มีหมายกำหนดการจะเสด็จกลับไปยุโรปในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 แต่เพียง 4 วันก่อนกำหนดเสด็จ ก็ทรงสวรรคตด้วยพระแสงปืน...

หลังกรณีสวรรคตและพระอนุชาได้รับการรับรองจากสภาฯให้ขึ้นครองราชย์ เป็นในหลวงองค์ปัจจุบัน ความจริง รัฐบาลปรีดีก็ต้องการให้ทรงประทับในประเทศไทย แต่ทางราชสำนักยืนยันว่าในหลวงองค์ใหม่จะเสด็จกลับไปต่างประเทศ

ผมยกความจริงเรืองนี้ขึ้นมา เพราะเป็น irony ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จกลับมาประทับอย่างถาวรจริงๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2494 กลับกลายเป็นปัญหาให้กับกลุ่มนำในรัฐบาลขณะนั้น จนต้องรีบชิงทำรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน ที่เกิดขึ้นขณะในหลวงทรงอยู่ในเรือที่กำลังเข้ามาในน่านน้ำไทย (ในที่สุด เสด็จถึงท่าเรือกรุงเทพวันที่ 2 ธันวาคม)





หลังในหลวงองค์ปัจจุบันเสด็จกลับยุโรปในเดือนสิงหาคม 2489 แล้ว รัฐบาลหลวงธำรง(ที่บริหารแทนรัฐบาลปรีดี)ก็คาดหมายว่า จะทรงเสด็จกลับมาประกอบพระราชพิธีพระราชเพลิงศพพระเชษฐาในไม่กี่เดือนข้างหน้า มีการเริ่มลงมือเตรียมจัดสร้างพระเมรุ เพื่อประกอบพิธีในเดือนมีนาคมปีต่อมา (2490) แต่ผ่านไป 3-4 เดือน ทางราชสำนัก ก็ยังหาได้ยืนยันว่าจะทรงเสด็จกลับมาประกอบพิธีไม่ ทางรัฐบาลก็ไม่แน่ใจ ครั้นจะเลื่อนการเตรียมงานออกไป ก็ไม่กล้าทำ หลวงธำรง กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2489 ว่า "เลื่อนไม่ได้ จะขุดหลุมฝังเรา" แต่แล้ว ในเดือนเดียวกัน ทางคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีหนังสือมาขอให้รัฐบาลเลื่อนงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ออกไปเอง ในบรรดาเหตุผล 2-3 ข้อที่ยกมา มีอยู่ข้อหนึ่งนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง คือ การสอบสวนกรณีสวรรคตยังไม่เสร็จสิ้น แต่ทว่าทำไม คณะผู้สำเร็จฯจึงเห็นว่า การที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะเป็นอุปสรรคต่อการพระราชทานเพลิงศพนั้น นับว่าค่อนข้างคลุมเครือ ขอให้ดูข้อความในหนังสือส่วนนี้ โดยเฉพาะที่ผมขีดเส้นใต้เน้นคำไว้ :
อนึ่งการกำหนดงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพนั้น ถ้าจะกำหนดแล้ว ก็น่าจะกำหนดให้เหมาะกับโอกาสที่จะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อถวายพระเพลิงด้วย แต่โดยที่การสอบสวนกรณีสวรรคตยังเป็นอันควรให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนอยู่ต่อไปอีก และยังหวังไม่ได้ว่า การสอบสวนต่อไปดังว่านั้นจะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อใดแน่ การที่จะกำหนดให้เสด็จเข้ามาเพื่อถวายพระเพลิงในเดือนมีนาคมหน้า ถ้าการสอบสวนเช่นว่านั้นยังไม่สำเร็จเด็ดขาดลงไป การขลุกขลักย่อมจะมีขึ้นเกี่ยวกับการจัด ที่ประทับและการจัดผู้คนราชบริพารประจำในที่ประทับเหล่านี้อยู่มาก
ต้องนับว่าค่อนข้างแปลกและคลุมเครือมาก ว่า ทำไมคณะผู้สำเร็จฯจึงคิดว่า การที่การสอบสวนคดีสวรรคตยังดำเนินไป จะทำให้ "การขลุกขลักย่อมจะมีขึ้นเกี่ยวกับการจัดที่ประทับและการจัดผู้คนราชบริพารประจำ ในที่ประทับเหล่านี้อยู่มาก" เพราะดูๆแล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย

(นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งคณะผู้สำเร็จฯเรียกเข้าเฝ้า เพื่อแจ้งขอให้เลื่อนงาน ได้บอกกับคณะรัฐมนตรีว่า "ผมหยั่งดูอีกอัน เห็นจะเป็นว่าในหลวงไม่พร้อมที่จะเสด็จ")





หลังรัฐประหาร ในปี 2491 รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีการกำหนดเตรียมงานพระราชเพลิงพระบรมศพใหม่ เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 และได้ตกลงเตรียมจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย พร้อมกันนั้นได้ตกลงกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จกลับมาประท้บในประเทศไทยเป็นการถาวร พร้อมกันไปด้วย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รัฐมนตรีต่างประเทศ (พล.ต. หม่อมเจ้า ปรีดีเทพพงศ์ เทวกุล) เดินทางไปเข้าเฝ้าที่สวิสเซอร์แลนด์ เรียนพระราชปฏิบัติขอพระราชทานพระกระแสพระราชดำริในเรื่องนี้ แต่ในที่สุด ในหลวงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงจอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ซึ่งจอมพล ได้แจ้งแต่คณะรัฐมนตรีว่า "...ได้รับพระราชหัตถ์เลขา [อ่าน.....] สรุปว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังไม่เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย [เป็นการถาวร - สมศักดิ์] จนกว่าการพิจารณาคดีสวรรคตจะเสร็จสิ้น"





ช่วงปี 2493-94 หลังจากเสด็จกลับไปยุโรป หลังจากทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ, พระราชพิธีอภิเษกสมรส, และบรมราชาภิเษกแล้ว เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีทรงตั้งพระครรภ์ รัฐบาลจอมพล ป. ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญให้ทรงเสด็จมาทรงประสูติในประเทศไทย เพื่อจะได้ประกอบพระราชพิธีให้ถูกต้องตามพระราชประเพณีแต่โบราณกาล (รัฐบาลได้ใช้ความพยายามไม่น้อยในการกราบบังคมทูลเชิญ) แต่ทรงยืนยันปฏิเสธ





การเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยเป็นการถาวรในปลายเดือนพฤศจิกายน-ต้นธันวาคม 2494 นั้น มีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นได้พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2494 ให้ประหารชีวิตนายชิต สิงหเสนีย์ ในความผิดสมรู้ร่วมคิดปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ .....







หมายเหตุ : ผมไม่ได้ทำเชิงอรรถอ้างอิงข้อมูลข้างต้น เนื่องจากนี่เป็นเพียงบันทึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของร่างบทความเท่านั้น ในตัวบทความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะมีเชิงอรรถอ้างอิงครบถ้วน





ดูเพิ่มเติม : ข่าวลือเรื่องควงและพี่น้องปราโมชวางแผนสถาปนาให้พระองค์เจ้าจุมภฏเป็นกษัตริย์ ในปี 2491