Tuesday, April 12, 2011

พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500



เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ The Observer ของอังกฤษที่นั่นว่า "หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน"

(อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)", วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553, หน้า 218 ผมเข้าใจว่า อันที่จริง ท่านผู้หญิงพูนศุขน่าจะให้สัมภาษณ์ The Observer ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน เพราะในต้นเดือนเมษายนนั้น เธอได้เดินทางมาถึงไทย การสัมภาษณ์น่าจะทำในช่วงที่เดินทางผ่านสิงคโปร์ คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผมว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่า ทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพล ใจจริง บอกผมว่า รายงานของทูตอังกฤษ อ้างถึงคำสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ไปใน The Observer แล้ว)

ท่านผู้หญิงพูนศุข หมายความว่าอย่างไร?

ผมขออนุญาตไม่ตีความหรืออธิบายประโยคดังกล่าวของท่านผู้หญิงพูนศุขโดยตรง แต่จะขออธิบายว่า คำสัมภาษณ์ประโยคเดียวนี้ เกิดขึ้นภายใต้บริบทอะไร ที่สำคัญคือ จะชี้ให้เห็นว่า คำสัมภาษณ์นี้เป็นหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนถึงบางเรื่องอย่างไร

เช้ามืดยังไม่ทันรุ่งสางของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 จำเลย 3 คนในคดีสวรรคต ได้ถูกนำตัวไปประหารชีวิต มีข่าวร่ำลือออกมาว่า ในนาทีสุดท้ายก่อนจะถูกนำตัวเข้าหลักประหารนั้น ชิต สิงหเสนี ซึ่งเป็นมหาดเล็กที่อยู่หน้าห้องบรรทมในหลวงอานันท์ และเป็นคนแรกที่ถูกตัดสินประหารชีวิตตั้งแต่ในศาลชั้นต้น (ซึ่งปล่อยอีก 2 จำเลย) ได้พูดคุยแบบสองต่อสอง กับเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจ มือขวาของจอมพล ป ที่ไปสังเกตการณ์การประหารชีวิต โดยที่ ชิต ได้ถือโอกาสที่ตัวเองกำลังจะถูกประหาร เล่า "ความลับ" ของ "กรณีสวรรคต" ให้เผ่าฟัง ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในเช้าวันนั้น มีเสียงลือว่า เผ่าได้ทำบันทึกเรื่องที่ชิตเล่าไว้ด้วย (ดูบทความของผมเรื่อง "50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498", ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548, หน้า 78 หรือดาวน์โหลดบทความในรูป pdf จากเว็บ นิติราษฎร์ ที่นี่)

ขณะนั้น การเมืองไทยกำลัง "ระอุ" ด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้เป็นใหญ่ทางการเมืองแบบ "สามเส้า" (triumvirate) คือ ระหว่างจอมพล ป พิบูลสงคราม, เผ่า ศรียานนท์ และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันที่จริง ถ้าพูดอย่างเข้มงวดแล้ว จอมพล ป แม้จะไม่ถึงกับไว้วางใจ เผ่า แบบสนิทเต็มร้อย (พุฒิ บูรณะสมภพ มือขวาคนหนึ่งของเผ่า เล่าให้ผมฟังว่า เผ่า เคยเสนอจอมพล ป จะ "เก็บ" สฤษดิ์ ให้ แต่จอมพล ไม่ยอม เพราะในที่สุด ก็ต้องการสฤษดิ์ ไว้คานอำนาจเผ่าเช่นกัน) แต่โดยรวมแล้ว จอมพล ป กับ เผ่า มีลักษณะเป็นพันธมิตรใกล้ชิด เรียกได้ว่า เป็นขั้วหรือกลุ่มเดียวกัน ที่บางครั้งเรียกกันว่า กลุ่ม "พิบูล-เผ่า" ในขณะที่ สฤษดิ์ แยกออกมาเป็นอีกขั้วหนึ่ง

สฤษดิ์ ในขณะนั้น เล่นการเมืองในลักษณะ "ตีสองหน้า" คือ หน้าหนึ่ง ก็ทำตัว "ก้าวหน้า" คบหาสมาคมและสนับสนุนฝ่ายซ้าย (ที่อยู่ใต้การนำของ พคท.) ในขณะนั้น นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดังอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ และอีกหลายคน เรียกได้ว่า เป็น "ลูกจ้าง" ให้สฤษดิ์ โดยปริยาย เพราะเป็นนักเขียนประจำของ "สารเสรี" หนังสือพิมพ์ที่สฤษดิ์ออกทุนทำ

พร้อมกันนั้น สฤษดิ์ ก็สร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองที่เรียกกันในสมัยนั้นว่าพวก "ศักดินา" โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ของควง อภัยวงศ์ และพี่น้องปราโมช (เสนีย์, คึกฤทธิ์) เป็นตัวแทน "ออกหน้า" ที่สำคัญ แต่ยังมีราชวงศ์ชั้นสูง (พวกเจ้าและขุนนางเก่าจากสมัยก่อน 2475) อีกหลายคน ที่สำคัญที่สุดคือ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ที่เป็นประธานองคมนตรี เคลื่อนไหวแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ด้วย

ถึงปี 2499 จอมพล ป และเผ่า เริ่มตระหนักว่า ไม่สามารถรับมือกับพันธมิตรสฤษดิ์-ศักดินา โดยเฉพาะการเข้มแข็งทางการเมืองที่มากขึ้นของกลุ่มศักดินา อันมีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ เป็นครั้งแรกในระยะประมาณ 20 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 และการสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ประทับในประเทศอย่างถาวร (ในหลวงองค์ปัจจุบันทรงเสด็จกลับประเทศไทยอย่างถาวรในช่วงสิ้นปี 2494) และบทบาทที่ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นของสถาบันกษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์เอง เช่น ในวันกองทัพบก 25 มกราคม 2499 ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสวิพากษ์การที่ทหาร - คือกลุ่มของจอมพล ป - เข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่ฉีกประเพณีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 ที่พระมหากษัตริย์ต้องไม่ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเมืองในที่สาธารณะ (ดร.หยุด แสงอุทัย นักกฎหมายมือหนึ่งของรัฐบาลในขณะนั้น ได้ออกปาฐกถาเชิงวิพากษ์วิจารณ์พระราชดำรัสนี้ จนถูกกล่าวหาว่า "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ")

ในปีนั้น จอมพล ป และ เผ่า จึงตัดสินใจหาทางติดต่อกับปรีดีที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน เพื่อชักชวนให้ปรีดีกลับประเทศ เพื่อร่วมมือกันต่อสู้กับกลุ่มศักดินา โดย "อาวุธ" สำคัญที่จะร่วมกันใช้ในการต่อสู้นี้ คือ การรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ (ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า การบอกเล่าก่อนถูกประหารของชิต ต่อเผ่า คงจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการรื้อฟื้นนี้)

ในช่วงปี 2525 ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณชิต เวชประสิทธิ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "ลูกศิษย์ปรีดี" คนหนึ่ง และเป็นอดีตหนึ่งในคณะทนายจำเลยคดีสวรรคต คุณชิตเล่าว่า จอมพล ป ได้ฝากข้อเสนอเรื่องร่วมมือกันสู้ศักดินา (ด้วยคดีสวรรคต) ให้เขาและ "ลูกศิษย์อาจารย์" อีกคนหนึ่งคือ ลิ่วละล่อง บุนนาค นำไปปรึกษาปรีดีที่จีน ตอนที่คุณชิตเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง ข้อมูลนี้เป็นเรื่องที่แทบไม่มีคนรู้ ต่อมาในช่วงประมาณปี 2543 จึงมีผู้เผยแพร่จดหมายที่ปรีดีเขียนตอบสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2499 (เข้าใจว่า จอมพล ป คงใช้ให้สังข์เขียนเป็นจดหมายถึงปรีดี ฝากชิตและลิ่วละล่องไปด้วย ปรีดีจึงเขียนเป็นจดหมายตอบมายังสังข์) ในจดหมาย ปรีดีกล่าวตอนหนึ่งว่า "ผมเห็นว่าคุณได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างแรงในการที่คุณได้แจ้งให้ผมทราบถึงบันทึกของคุณเผ่า [ที่]ได้สอบถามปากคำคุณเฉลียว ชิต บุศย์ ก่อนถูกยิงเป้า ที่ยืนยันว่า ผู้บริสุทธิ์ทั้งสามรวมทั้่งผมไม่ได้มีส่วนพัวพันในกรณีย์สวรรคต" (ดูบทความ "50 ปี การประหารชีวิต" ของผมที่อ้างข้างต้น และ "ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป, กรณีสวรรคต และรัฐประหาร 2500" ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง หน้า 30-35 ซึ่งผมได้เล่าเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในปี 2539)

ช่วงสิ้นปี 2499 ถึงกลางปี 2500 มีข่าวลือแพร่สะพัดในพระนครเรื่องรัฐบาลจอมพล ป จะอนุญาตให้ปรีดีเดินทางกลับไทยเพื่อมาสู้คดีสวรรคต สถานทูตอเมริกันในไทยได้รายงานเรื่องนี้ไปยังวอชิงตันหลายครั้ง วอชิงตันแสดงความไม่พอใจและเตือนจอมพล ป ว่า สหรัฐไม่เห็นด้วยกับการให้ปรีดีกลับไทยเพื่อรื้อฟื้นคดีสวรรคตซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์และเสถียรภาพทางการเมืองของไทย อย่างเป็นทางการจอมพลบอกวอชิงตันว่ารัฐบาลของเขาไม่ได้มีแผนการดังกล่าว แต่ข่าวลือก็ยังคงมีอยู่ และเข้มข้นสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2500 ทูตอเมริกันรายงานด้วยว่า แผนการจับมือกับปรีดีของจอมพลและเผ่า สร้างความไม่พอใจให้กับพระมหากษัตริย์ไทยอย่างมาก (ดูวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง บทที่ 8 หน้า 197-221)

เรื่องนี้มาประจวบกับความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลจอมพล ป กับสถาบันกษัตริย์ที่ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงเดือนพฤษภาคม เมื่อในหลวงภูมิพลที่เดิมทรงมีกำหนดการจะเสด็จไปในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่รัฐบาลจัดขึ้นอย่างมโหฬารในเดือนนั้น ทรงงดการเสด็จอย่างกระทันหัน โดยทรงแจ้งกับรัฐบาลว่ามีพระอาการประชวร แต่ขณะเดียวกัน ทรงบอกทูตอังกฤษเป็นการส่วนพระองค์ว่า พระองค์มิได้ประชวรจนเสด็จไม่ได้ แต่ที่ไม่เสด็จเพราะไม่พอพระทัยที่รูปแบบการจัดงานของรัฐบาลออกมาในลักษณะที่ทำให้รัฐบาลมีความสำคัญเทียบเท่าหรือมากกว่าพระองค์ ทรงเห็นว่า รูปแบบการจัดงานควรออกมาในลักษณะที่ให้พระองค์เป็นศูนย์กลาง (ตัวบทรายงานพระราชดำรัสที่ทรงเล่าแก่ทูตอังกฤษในประเด็นนี้คือ The King … clearly resented the fact that it has been drawn up with a view to making the Government as important if not more so than the King himself around whom of course the celebration should have been centred. ดูคำแปลรายงานฉบับเต็มของทูตอังกฤษนี้ของผม พร้อมเอกสารแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลกับราชสำนักในเรื่องในหลวงทรงประชวรจริงหรือไม่ ได้ที่นี่)

ในเดือนมิถุนายน (ซึ่งเป็นทั้งช่วงครบรอบการสวรรคตของในหลวงอานันท์และการปฏิวัติ 2475) ท่ามกลางข่าวลือเรื่องปรีดีจะกลับและจะมีการรื้อฟื้นคดีสวรรคตนี้ ก็เกิดกรณที่นายสง่า เนื่องนิยม เจ้าของฉายา “ช้างงาแดง” ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกพรรค “ศรีอาริยเมตไตรย์” ของ เฉียบ ชัยสงค์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกศิษย์ปรีดี” คนหนึ่ง และเพิ่งเดินทางกลับจากการลี้ภัยในจีนร่วมกับปรีดีในปี 2499 (หมายถึงเฉียบ ไม่ใช่สง่า ตัวสง่าเองนั้น ผมไม่แน่ใจว่า เป็นพวกปรีดีแค่ไหน) ขึ้นปราศรัย หรือ “ไฮด์ปาร์ค” ที่สนามหลวง พาดพิงถึงกรณีสวรรคตอย่างล่อแหลมมากๆ ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยกคำปราศรัยของสง่ามาโจมตีว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายกับสง่า แต่รัฐบาลจอมพล ป และเผ่า กลับไม่ทำอะไร นอกจากปรับเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ในวันที่ 24 มิถุนายน เมื่อ ปาล พนมยงค์ ลูกชายปรีดี เข้าพบจอมพล ป ที่วัดมหาธาตุเพื่อลาบวช จอมพลได้กล่าวกับปาลว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยนะว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้ศักดินาไม่ไหวแล้ว” ในเวลาไล่เรี่ยกัน ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้บอกกับเสนีย์ ปราโมชว่า “จอมพล ป จะหาเรื่องในหลวง” (ย่อหน้านี้และย่อหน้าติดกันข้างบน เอาข้อมูลมาจาก ณัฐพล ใจจริง, หน้า 219-220 กรณีนายสง่านั้น ต่อมา เมื่อสฤษดิ์ร่วมกับกลุ่มศักดินาทำรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จึงเริ่มมีการดำเนินคดีฟ้องร้อง ดูคำพิพากษาหลังรัฐประหารลงโทษสง่าในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งให้รายละเอียดว่า นายสง่าพูดหรือทำอะไรบ้างบนเวที “ไฮด์ปาร์ค” ครั้งนั้น ใน สุพจน์ ด่านตระกูล, ข้อเท็จจริงกรณีสวรรคต, ฉบับพิมพ์ปี 2517, หน้า 265-267)

คำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข ที่ยกมาในตอนต้นบทความ เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เอง ในช่วงใกล้ๆ กัน ปรีดีเองก็ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในจีน แล้วหนังสือพิมพ์ในฮ่องกงนำมารายงานว่า เขาได้ติดต่อกับบุคคลสำคัญในไทยเพื่อการเดินทางกลับมาต่อสู้คดีสวรรคต (อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, หน้า 220)

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คำสัมภาษณ์ประโยคเดียวของท่านผู้หญิงพูนศุขมีความสำคัญในแง่ที่นอกจากจะเป็นการยืนยันสนับสนุนหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ถึงความพยายามร่วมมือระหว่างปรีดีกับจอมพลและเผ่าที่จะรื้อฟื้นคดีสวรรคต ยังเป็นการยืนยันเด็ดขาดอย่างที่ไม่ต้องมีข้อสงสัยอีกแล้ว ถึงประเด็นหนึ่งที่เคยเป็นปัญหาว่า ปรีดีเองมีข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีสวรรคตหรือไม่อย่างไร ดังที่ผมได้อธิบายไว้ในบทความหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเวลาหลายสิบปี ที่ผู้สนใจกรณีสวรรคตมักจะตั้งคำถามว่า ปรีดีเองมีความเห็นอย่างไรแน่ ในสมัยที่เขาเป็นรัฐบาล – รวมถึงรัฐบาลหลวงธำรงที่เป็น “นอมินี” ของเขา – ท่าทีอย่างเป็นทางการของเขาคือ ในหลวงอานันท์ทรงยิงพระองค์เองโดยอุบัติเหตุ ในบทความดังกล่าว ผมได้ยกหลักฐานที่เพิ่งพบใหม่ คือบันทึกการเล่ากรณีสวรรคตของหลวงธำรงต่อทูตอเมริกัน มาแสดงว่า หลวงธำรงและปรีดี (ตามที่หลวงธำรงเล่า) มีข้อสรุปกรณีสวรรคตจริงๆ ที่เก็บเงียบไว้แตกต่างจากท่าทีที่พวกเขาแสดงออกอย่างเป็นทางการ (ดู “ข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต: หลวงธำรงระบุชัด ผลการสอบสวนใครคือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2552, หน้า 60-73 หรือดาวน์โหลดบทความในรูป pdf จากเว็บ นิติราษฎร์ ที่นี่) อันที่จริง หลักฐานที่ผมยกมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่หากใครจะยังมีข้อสงสัยว่า นั่นเป็นเพียงการเล่าหรืออ้างของหลวงธำรงว่า ปรีดีคิดอย่างไร คำสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุขต่อ The Observer เป็นการยืนยันว่า ปรีดีมีข้อสรุปกรณีสวรรคตแบบเดียวกับที่หลวงธำรงบอกทูตอเมริกันจริงๆ


ความพยายามที่ล้มเหลว - ไม่ทันกาล
ในช่วง 2 เดือนเศษ จากเดือนกรกฎาคมถึงวันที่ 16 กันยายน 2500 เมื่อสฤษดิ์และกลุ่มศักดินาร่วมกันทำรัฐประหารโค่นจอมพล ป และเผ่าลง ข่าวลือเรื่องปรีดีจะกลับ และจะมีการรื้อฟื้นคดีสวรรคตดูจะเบาบางลง เราไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ได้มีการดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ในช่วงไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร ทั้งจอมพลและเผ่าได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ได้ติดต่อและพบปะกับหลวงธำรงและดิเรก ชัยนาม คนสนิทของปรีดีในไทย เผ่ายังบอกนักการทูตอเมริกันว่า ธำรงและดิเรกติดต่อกับปรีดีอยู่เสมอ เขาบอกด้วยว่า ปรีดีต้องการให้มีการพิจารณาคดีสวรรคตใหม่โดยเสนอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อให้สามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ได้ (ณัฐพล ใจจริง, หน้า 229-230)

ขณะเดียวกัน ความตึงเครียดระหว่างจอมพล ป และเผ่า กับสถาบันกษัตริย์ยังดำเนินต่อไป ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน คือประชาธิปัตย์และสหภูมิ (พรรคของสฤษดิ์) ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ส.ส.ฝ่ายค้านคนหนึ่งอ้างว่า ได้ทราบจากแหล่งข่าวว่า ระหว่างการประชุมของฝ่ายรัฐบาลเมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนั้น เพื่อพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยมีนายทหารระดับสูงเข้าประชุมด้วย ที่ประชุมมีการเสนอให้จับพระมหากษัตริย์ ส.ส.ผู้นี้ยังอ้างว่า แหล่งข่าวของเขาในพรรครัฐบาล (เสรีมนังคศิลา) รายงานว่า ในการประชุมพรรคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2498 เผ่าได้พูดต่อหน้าจอมพลว่า ในหลวงทรงช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, วันที่ 29 สิงหาคม 2500, หน้า 1031-1033) ในวันเดียวกับที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้นเอง สฤษดิ์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา โดยกล่าวว่า เขา “ไม่อดทนกับแผนการต่อต้านกษัตริย์” ของจอมพลและเผ่า (ณัฐพล ใจจริง, หน้า 230)

ดังที่ทราบกันทั่วไป ในที่สุด สฤษดิ์ได้ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ในวันยึดอำนาจ ในหลวงภูมิพลทรงมีพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยของพระองค์เองโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (รัฐธรรมนูญปี 2495 ที่ให้พระบรมราชโองการต้องมีผู้รับสนอง ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่) แต่งตั้งให้สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร และทรง “ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชทุกฝ่าย ฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” (ดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 76 วันที่ 16 กันยายน 2500, ฉบับพิเศษ หน้า 1 หรือดาวน์โหลดได้ที่นี่) นอกจากพระบรมราชโองการนี้แล้ว การสนับสนุนของสถาบันกษัตริย์ต่อรัฐประหารของสฤษดิ์ ยังได้รับการยืนยันจากหลักฐานร่วมสมัยทั้งของไทย, อเมริกันและอังกฤษ (ผู้สนใจรายละเอียดโปรดดู ณัฐพล ใจจริง, หน้า 223-247) สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการสนับสนุนนี้คือ เพื่อยับยั้งการร่วมมือระหว่างจอมพล ป-เผ่า กับปรีดีในการรื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นใหม่ (รายงานซีไอเอในขณะนั้นสรุปว่า “เนื่องจากพระองค์ทรงกลัวแผนการของจอมพล ป ที่จะนำปรีดีกลับมาจากจีน”)


(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 22 ตุลาคม 2553)

ปัจฉิมลิขิต บทความ “พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร”



วันที่ 12 สิงหาคม 2551 ผมได้เผยแพร่บทความเรื่อง "พระบารมีปกเกล้า: พระสุรเสียงราชินีบนเวทีพันธมิตร" ที่ประชาไทและที่อื่นๆ ขณะนั้น นัยยะความสำคัญของสิ่งที่บทความกล่าวถึง ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันอย่างเต็มที่ ในบทความดังกล่าว ผมได้เล่าถึงการปรากฏของเทปบันทึกพระสุรเสียงของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถบนเวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงวันเข้าพรรษา-อาสาฬหบูชา กลางเดือนกรกฎาคมปีนั้น โดยที่เทปบันทึกพระสุรเสียงนั้นเป็นเทปส่วนพระองค์ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน แต่สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำกลุ่มพันธมิตร กลับสามารถนำมาเปิดให้ผู้ร่วมชุมนุมฟังได้อย่างประหลาด ยิ่งกว่านั้น สนฺธิยังได้เสนอการตีความเทปบันทึกพระสุรเสียงในลักษณะที่สอดคล้องสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรในขณะนั้น ที่กำลังจัดชุมนุมยืดเยื้อเพื่อโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน

บทความของผมยังเสนอด้วยว่า ลำพังเทปพระสุรเสียงส่วนพระองค์บนเวทีพันธมิตรก็นับว่าสำคัญอย่างมากแล้ว บันทึกและคำบอกเล่าของผู้นำพันธมิตรในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้น เกี่ยวกับการต่อสู้ของพันธมิตรในปี 2549 ที่นำไปสู่การรัฐประหาร 19 กันยา ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามมากขึ้น ได้แก่ บันทึกของคำนูญ สิทธิสมาน (ตุลาคม 2549) ที่กล่าวถึง “ผ้าพันคอสีฟ้า” ที่มีข้อความ “902...74...12 สิงหาคม 2549...แม่ของแผ่นดิน” ซึ่งคำนูญเล่าว่า มี “ท่านผู้ปรารถนาดี” มอบให้ผู้นำพันธมิตรในช่วงการชุมนุมไม่กี่วันก่อนรัฐประหาร และเงินจำนวน 2.5 แสนบาท ที่ “สุภาพสตรีสูงศักดิ์” และ “ผู้ใหญ่ที่ท่าน[สุภาพสตรีสูงศักดิ์]เคารพ” มอบให้ในช่วงเดียวกัน ซึ่งได้ทำให้ผู้นำพันธมิตร “มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่าพวกเราจะประสบชัยชนะแน่นอน” และ “ความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเลือนไปจวบวันตายก็คือ ครั้งหนึ่งในชีวิต ประชาชนช่วยจ่ายเงินเดือนเราโดยตรง แผ่นดินช่วยจ่ายเงินเดือนพวกเราโดยตรง” ซึ่งต่อมา สนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวในระหว่างการอภิปรายในสหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ว่า “มีของขวัญชิ้นหนึ่ง มาจากราชสำนัก ผ่านมาทางท่านผู้หญิงบุษบา ซึ่งเป็นน้องสาวพระราชินี....ผมเข้าไปรับด้วยตัวเองกับท่านผู้หญิงบุษบา” และอีกครั้งบนเวทีพันธมิตรในเดือนมิถุนายน ปีต่อมาว่า “ผ้าพันคอนี้ ข้าราชบริพารในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เอามาให้พวกเราคืนนั้น แล้วบอกว่า พระองค์ท่านพระราชทานมา เป็นผ้าพันคอพระราชทาน

ดังที่ผมกล่าวข้างต้นแล้วว่า ขณะที่บทความของผมได้รับการเผยแพร่เมื่อ 2 ปีก่อน นัยยะความสำคัญของเรื่องเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ตระหนักกันดี แม้แต่ในหมู่ผู้อ่านที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคพลังประชาชนและเป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตร หลายคนยังมองว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพียงการกล่าวอ้างของผู้นำพันธมิตร (ผมไม่คิดว่า เรื่องใหญ่และสำคัญเช่นนี้ พวกเขาจะกล้ากล่าวอ้าง) แต่ไม่ถึง 2 เดือนต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่ผู้ชุมนุมพันธมิตรปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้ารัฐสภาและกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมีพันธมิตรเสียชีวิต 2 คน คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ “สารวัตรจ๊าบ”

สิ่งแรกที่น่าจะสร้างความรู้สึกตกใจคาดไม่ถึง ให้กับผู้ติดตามเหตุการณ์ในวันนั้น คือ ภายในชั่วโมงแรกๆของการปะทะ บนเวทีและทางสื่อพันธมิตร ได้ประกาศว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรงพระราชทานเงิน 1 แสนบาท รักษาพันธมิตรที่บาดเจ็บ ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาล(1) แม้ว่าในตอนเย็นวันนั้น จะมีรายงานข่าวจากโรงพยายาลรามาธิบดีทางสื่อพันธมิตรเองว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยรักษาผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เข้ารับการรักษาที่นั่น “อย่างเท่าเทียมกัน” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้หมายถึงว่า รักษาผู้บาดเจ็บทั้งที่เป็นพันธมิตรและเจ้าหน้าที่ เพราะดูเหมือนจะไม่มีเจ้าที่บาดเจ็บอยู่ที่นั่น(2) และใน 2 วันต่อมา ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีฆะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้แถลงว่า พระราชินีทรงติดตามข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งโรงพยาบาล ทรงสลดพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า "การพระราชทานความช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกคน โดยไม่แบ่งว่าเป็นฝ่ายใด เพราะประชาชนทุกคนนั้นคือพสกนิกรของพระองค์ทุกคน"(3) แต่ความจริง “ประชาชน” ในครั้งนั้นมีเฉพาะฝ่ายพันธมิตรเท่านั้น เพราะไม่ใช่การปะทะระหว่างประชาชนฝ่ายพันธมิตรกับประชาชนฝ่ายอื่น ที่เหลือที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คือเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า ทรงพระราชทานเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆด้วย ถึงกระนั้น ผมคิดว่าการพระราชทานเงินช่วยเหลือครั้งแรกสุดในชั่วโมงแรกๆของเหตุการณ์ที่มีแต่ฝ่ายพันธมิตรบาดเจ็บ ก็ยังเป็นการกระทำที่มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญมาก(4)

ถ้าจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง เกี่ยวกับเรื่องเงินพระราชทานรักษาผู้บาดเจ็บในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 สิ่งที่เป็นเรื่อง “ช็อค” อย่างแท้จริงยังกำลังจะตามมา

วันที่ 9 ตุลาคม สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพวงมาลามาร่วมเคารพศพ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ “น้องโบว์” แต่ที่สำคัญที่สุดคือ วันที่ 13 ตุลาคม 2551 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพให้ “น้องโบว์” ด้วยพระองค์เอง (โดยมีองคมนตรีหลายคน ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ร่วมตามเสด็จ)(5) ในระหว่างงาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครอบครัวระดับปัญญาวุฒิเข้าเฝ้า มีพระราชปฏิสันถารด้วยโดยใกล้ชิด ทั้งยังทรงมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์กับสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตรในที่นั้นด้วย นายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดา “น้องโบว์” ได้เปิดเผยว่าทรงมีรับสั่งกับครอบครัวเขาว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางสาวอังคณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับรู้เรื่องราวโดยตลอด รวมทั้งกรณีพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือมาด้วย..... [อังคณา] เป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์....ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะ [อังคณา] ทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ [สมเด็จพระนางเจ้าฯ] ด้วย....เป็นห่วงพันธมิตรทุกคน ไว้จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตร(6)
แทบไม่จำเป็นต้องย้ำว่า น.ส.อังคณา ผู้ตาย (และสนธิ ลิ้มทองกุลเอง) เป็นส่วนหนึ่ง (และเป็นผู้นำ) ของกลุ่มการเมืองที่กำลังชุมนุมยืดเยื้อโดยมีเป้าหมายที่ประกาศเปิดเผยว่า เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้น ทั้งยังได้กำลังยึดครองทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน (คือไม่นับวังหรือวัด) ต้องถือเป็นสถานที่ราชการที่มีความสำคัญสูงสุด เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว

การเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” และพระราชดำรัสที่บิดา “น้องโบว์” นำมาเปิดเผย เป็น “สันปันน้ำ” (watershed) สำคัญของวิกฤติการเมืองไทยครั้งนี้ ซึ่งได้ส่ง “คลื่นแห่งความตกใจ” (shock wave) ทางการเมือง อย่างกว้างขวางใหญ่โต

ในความเห็นของผม นี่คือปัจจัยผลักดันสำคัญที่สุดที่แท้จริงให้เกิด “จิตสำนึก” หรือ “อัตลักษณ์” ของ “ความเป็นเสื้อแดง” การชุมนุมมวลชนนับหมื่นที่พร้อมใจกันใส่เสื้อแดงเป็นครั้งแรก มีขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2551 (ที่เมืองทองธานี) ในท่ามกลางกระแสคลื่น shock wave เช่นนี้เอง แม้การชุมนุมครั้งแรกจะมีก่อนการเสด็จพระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์” แต่ข่าวเรื่องเงินพระราชทานช่วยพันธมิตรที่บาดเจ็บในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม และพวงมาลาพระราชทานหน้าศพ “น้องโบว์” เป็นที่ทราบกันดีแล้ว(7) และเมื่อถึงการชุมนุมมวลชน “เสื้อแดง” ครั้งที่สอง ที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 (ที่สนามกีฬาราชมังคลา) “จิตสำนึก” เช่นนี้ก็ได้รับการทำให้เข้มข้นอย่างสูง จากเหตุการณ์วันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งถึงตอนนั้นได้รับการ “ขนานนาม” กันในหมู่ “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่งเกิดใหม่ว่าเป็น “วันตาสว่าง” (แห่งชาติ)

ผมตระหนักดีว่า ไอเดียของการใส่ “เสื้อแดง” เพื่อรณรงค์ทางการเมืองในหมู่ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2550 โดยเฉพาะในกลุ่มของสมบัติ บุญงามอนงค์ (“บ.ก. ลายจุด”) แต่การใส่ “เสื้อแดง” ในช่วงนั้น เป็นเพียงการกระทำในลักษณะ “ชั่วคราว” สั้นๆ ในคนกลุ่มเล็กๆ และก็ยังมีการ “เปลี่ยนสีเสื้อ” ไปตามกรณี (เช่น สีดำ ในระหว่างรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.) อันที่จริง ถ้าจะกล่าวว่า มี “สี” อะไรที่เป็นสีเสื้อซึ่งประชาชนที่คัดด้านรัฐประหารในปี 2550 ใส่กันมากที่สุด สีนั้นคือ “สีเหลือง” (แบบเดียวกับพันธมิตร)! ประเด็นที่ผมพยายามเสนอในที่นี้คือ เราต้องแยกพิจารณาระหว่าง “กำเนิด” (ในทาง “เทคนิค”) ของไอเดียนี้ กับสิ่งที่ต่อมาได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมด้วยหลายหมื่นหรือกระทั่งนับแสนคนทั่วประเทศ ที่พร้อมใจกัน “นิยามตัวเอง” (self-identification) ว่าเป็นพวกที่ไมใช่สีเหลือง (ซึ่งในหมู่พวกเขาจำนวนมากเคยนิยามตัวเอง) ปรากฏการณ์ทาง “การเมืองวัฒนธรรม” ขนาดมหึมาเช่นนี้ จะต้องมองบริบทที่มากกว่าการ “คิดค้น” ทางเทคนิคเรื่องการใส่สีเสื้อ (ที่มีมาก่อนเป็นปี) ดังกล่าว

ไม่เพียงแต่เรื่องการแสดงออกของ “อัตลักษณ์” ทางสีเสื้อที่ไม่ใช่สีเหลืองนี้ การแสดงออกในด้านอื่นๆ ก็เปลี่ยนไปอย่างสำคัญอย่างเห็นได้ชัดหลัง 13 ตุลาคม 2551 ใครที่ติดตามการแสดงความเห็นทางเว็บบอร์ดการเมืองโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เรียกได้ว่า “พวกเชียร์ทักษิณ” ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ ความคิดหรือการแสดงออกที่ภายหลังถูกศัตรูทางการเมืองของพวกเขากล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” หรือ “ล้มเจ้า” นั้น หาใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นแต่อย่างใด อารมณ์ความรู้สึกทั้งในแง่ “ช็อค”, ผิดหวังรุนแรง, “น้อยเนื้อต่ำใจ”, ขณะเดียวกันก็มีด้านที่ “ฮึดสู้” อย่างท้าทาย (defiance) ผสมผสานกันไปในการแสดงออกของกลุ่ม “คนเสื้อแดง” ที่เพิ่ง “เกิดใหม่” นี้ บางส่วนถึงกับ “กระฉอก” (spilling over) เข้าไปในแวดวงสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของพรรคพลังประชาชน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ กล่าวต่อสภาฯ เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามเรื่องการยึดครองทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตร “ผมต้องพูดเปิดอกกับท่านทั้งหลายว่า ทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้ทราบดีว่า ม็อบนี้เป็นม็อบมีเส้น ถ้าเป็นม็อบธรรมดาจบไปแล้วครับ จบไปนานแล้ว(8) หรือเมื่อ ส.ส.พรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย คนหนึ่งอ้างว่า สส.กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” (กลุ่มที่ถอนตัวจากพรรคพลังประชาชน-เพื่อไทย ไปสนับสนุนประชาธิปัตย์ ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้) 2 คน บอกกับเขาว่า "รู้ไหม ขณะนี้กำลังสู้อยู่กับใคร สู้อยู่กับสถาบันไม่มีทางชนะหรอก"(9)

แต่ที่สะท้อน อารมณ์ความรู้สึกของ “คนเสื้อแดง” หลัง 13 ตุลาคม 2551 ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดจนเป็นที่กล่าวขวัญกันคือ คำปราศรัยสด (“ไฮด์ปาร์ค”) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ที่พูดด้วยอารมณ์สะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง “เมื่อเรายืนอยู่บนดิน เราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า ... ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่า ฟ้าอยู่ไกล .... คนเสื้อแดง จะบอกดินบอกฟ้าว่า คนอย่างข้าฯก็มีหัวใจ ... คนเสื้อแดง จะถามดินถามฟ้าว่า ถ้าไม่มีที่ยืนให้สมคุณค่า..จะให้ข้าฯหาที่ยืนเองหรืออย่างไร...(10)


………….......………..



หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ไม่ปรากฏข่าวสารทางสาธารณะเรื่องพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในส่วนที่เกี่ยวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีก กลุ่มพันธมิตรเองได้ยุติการชุมนุมยืดเยื้อที่รวมถึงการยึดครองทำเนียบรัฐบาลและ (ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน) สนามบินสุวรรณภูมิ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 หลังจากรัฐบาลพรรคพลังประชาชนของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพรรคพลังประชาชนเอง สิ้นสุดลงตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาปีต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ศิลปินนักวาดรูปที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรและเสียมือขวาในระหว่างเหตุการณ์ 7 ตุลาคม พร้อมภรรยา เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯถวายภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ ที่ชิงชัยวาดด้วยมือซ้ายที่เขาหัดใช้แทนมือขวา ทรงรับสั่งต่อชิงชัยว่า “เก่งมาก”(11)

อีก 1 ปีต่อมา ในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรโดยตรง แต่เกี่ยวกับ “คนเสื้อแดง” ที่เป็นปฏิปักษ์กับพันธมิตร ในต้นเดือนสิงหาคม 2553 ได้มีผู้เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ภาพถ่ายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ถึง นภัส ณ ป้อมเพ็ชร แสดงความชื่นชมที่ นภัส เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง CNN วิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวของ CNN ระหว่างเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” ที่ราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม ว่าเป็นการรายงานข่าวที่ให้ร้ายรัฐบาลและเข้าข้าง “คนเสื้อแดง” อย่างไม่ถูกต้อง ในจดหมายที่เริ่มเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในเย็นวันที่ 16 พฤษภาคม (คือยังอยู่ในช่วงที่การปราบปรามของรัฐบาลเริ่มดำเนินไป 2-3 วัน และห่างจากวันที่ยุติ 3 วัน)(12) นภัสได้โจมตี “คนเสื้อแดง” อย่างรุนแรงหลายตอน เช่นกล่าวว่า “คนเสื้อแดง” ได้ “terrorised and harmed innocent civilians” ทำให้ชาวกรุงเทพเช่นเธออยู่ในภาวะ “state of constant terror and anxiety” ว่าจะถูกพวกนั้นโจมตีหรือปาระเบิดเข้าใส่ การกระทำของ “คนเสื้อแดง” เข้าข่าย “terrorist activities” ฯลฯ ในพระราชหัตถเลขาถึง นภัส ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2553 (คือ 2 เดือนหลังเหตุการณ์ยุติและความเสียหายต่างๆเป็นที่ทราบแน่นอนแล้ว) สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถทรง “รู้สึกภูมิใจ” ที่นภัส “ยืนขึ้นทำหน้าที่ของคนไทยตอบโต้นักข่าวต่างชาติอย่างองอาจ...ทำให้ประชาคมโลกที่ได้อ่านจดหมายของคุณต้องทบทวนความเชื่อถือที่มีต่อ CNN” ทรง “ชื่นชมยิ่งที่คุณช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศชาติ



เขียนเสร็จ
12 สิงหาคม 2553

(เผยแพร่ครั้งแรก ประชาไท 12 สิงหาคม 2553)